top of page

โลกรวนกับประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา: สรุปทอล์คหลังชม I AM GRETA Part 2

info657469



ต่อจากบทสรุปทอล์คหลังชมภาพยนตร์ I AM GRETA ตอนที่ 1 กับแขกรับเชิญทั้ง 3 ท่าน ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ จากสถาบัน NIDA, คุณอุ้ง กมลนาถ องค์วรรณดี จากเครือข่าย Fashion Revolution Thailand และ คุณอัด อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดง นักร้องวง mints และหนึ่งในทีม SOA THAILAND


วันนี้เรานำตอนที่ 2 มาให้ทุกคนได้อ่าน และร่วมสะท้อนไปด้วยกันถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศกับประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจยั่งยืน ทะเล และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลง


หากใครยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/ccclfilmfest/posts/406917910832999


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบ

ดร. ศิวัช ให้ความเห็นว่าในประเทศไทยนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราจะสนใจกัน แต่ทว่า งบประมาณในส่วนนี้ก็ถูกปัดตกหรือหักลงอยู่เป็นประจำ ยิ่งด้วยสถานการณ์โควิด 19 ตอนนี้ด้วย ทุกคนจึงเทความสนใจไปกับเรื่องโรคระบาดเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่าสิ่งแวดล้อมก็คือเรื่องที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน


อีกเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยกำลังเผชิญก็คือ อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วที่ก่อให้เกิดมลพิษ บริษัทเหล่านี้ไม่เลือกที่จะดำเนินการผลิตที่ประเทศของเขา และผลักภาระเรื่องนี้ไปยังประเทศที่กฎหมายทางสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวดอย่างประเทศไทย


เมื่อ 10-20 ปีที่ก่อน ประเทศจีนเคยเป็นดั่งโรงงานหลักของโลก ส่งผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ PM 2.5 หลังจากที่ประเทศจีนหันมาจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น ถ่านหิน ก็ถูกผลักไปอยู่นอกเมืองทั้งหมด และเกิดการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น ดังนั้น เรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ถ้าเราปรับตัวตาม


เศรษฐกิจยั่งยืน

คุณอุ้งเสริมว่าประเทศไทยในตอนนี้กำลังมีการขับเคลื่อนด้าน Bio-Circular-Green (BCG) Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว เพื่อให้เราปรับตัวกับอนาคตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโลกได้ โมเดลทางทางเศรษฐกิจ BCG เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา อย่างเช่น เกษตรกรรมและอาหาร และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการคิดว่ามีอะไรที่เรานำไปย่อยสลายได้บ้าง และมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพอะไรที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากตรงนี้ได้บ้าง เป็นต้น


ความหมายของ “การหมุนเวียน” หรือ “circular” ในภาษาอังกฤษ นี้ไม่ใช่แนวคิดเรื่องการรีไซเคิลหรือแปรรูปพลาสติกไปเป็นอย่างอื่น แต่มันคือการคิดตั้งแต่ต้นทางว่ารูปแบบธุรกิจแบบไหนที่จะไม่สร้างขยะหรือสร้างให้ได้น้อยที่สุด แล้วท้ายที่สุด เมื่อเกิดขยะขึ้นแล้ว เราจะนำมันไปจัดการอย่างไร


ความสำคัญของการดูแลทะเล

เมื่อพูดถึงเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้น เราอาจจะลืมนึกถึงเรื่องของมหาสมุทรที่จริงๆ แล้วก็มีความสำคัญและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก


คุณอัดได้แลกเปลี่ยนว่า ส่วนตัวเริ่มลงมือผลักดันเรื่องนี้เพราะเป็นคนชอบทะเล พอสังเกตเห็นขยะและมลพิษที่เกิดขึ้นกับทะเลก็ทำให้อยากสนับสนุนเรื่องของการดูแลรักษาทะเล แต่เมื่อลงมือจะเริ่มต้นนั้น อุปสรรคก็เกิดขึ้นเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ต้องมานั่งงมเข็มว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี หาข้อมูลจากตรงไหน มันใช้เวลาในการเรียนรู้นานมาก จึงคิดว่าระบบการศึกษาของประเทศเราควรมีวิชาสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ได้เรียนในหลักสูตรไหม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราก็ได้ยินกันตั้งแต่เด็กจากวิชาวิทยาศาสตร์บ้าง แต่ก็เหมือนกับวิชาที่เรียนเพื่อให้รู้และผ่านไป ไม่เกิดการตระหนักรู้ถึงผลกระทบของมัน และเกิดการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย


นอกจากนั้น ดร. ศิวัช ยังเสริมอีกว่า หลายๆคนก็รู้แล้วว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่โลกคือมหาสมุทร แล้วมหาสมุทรก็มีส่วนในการผลิตออกซิเจนให้กับโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เราจึงไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของมันได้เลย สิ่งมีชีวิตบนโลกเชื่อมโยงกันหมด เราไม่สามารถแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันได้ตามสมมติฐานหนึ่งของ James Lovelock ที่พูดถึงทฤษฎี Gaia


การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

วิทยากรทั้งสามท่านเห็นตรงกันว่าเรากำลังเผชิญปัญหาเชิงระบบ ระบบที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างลำบากเพราะความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงานของรัฐ รวมถึงการผูกขาดทางอำนาจของรัฐและนายทุนจำนวนหนึ่ง


ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โควิด หรือเศรษฐกิจ ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้รวดเร็วก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนต้องมีความแข็งแกร่งและมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เกิดการลงมือจัดการปัญหาต่างๆ และกดดันผู้ที่กุมอำนาจอยู่ให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น และเมื่อนั้นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศก็จะเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน



เรียบเรียงโดย

ธาร ธารตาวัน CCCL Team Coordinator

เจตน์หทัย บุญถนอม CCCL Social Media Officer


รับชมวีดีโอทอล์คย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/7M60QZQhmI/


-------


อ้างอิงเพิ่มเติมจาก

How much oxygen comes from the ocean? https://oceanservice.noaa.gov/facts/ocean-oxygen.html


BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/


Comments


bottom of page