top of page

ปัญหาขยะและการจัดการขยะ

รูปภาพนักเขียน: Nakorn ChaisriNakorn Chaisri

ปัญหาขยะไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขในระยะยาวอีกด้วย จากสถิติโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 24.98 ล้านตัน หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งสิ้น 69.8 ล้านคน นั่นเท่ากับว่า คนไทย 1 คนได้สร้างขยะ 360 กิโลกรัมต่อปี จำนวนปริมาณขยะที่มหาศาลนี้สะท้อนถึงแนวโน้มการอุปโภคที่สูงในทุกภาคส่วน และหากมีการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในสังคม นอกจากนี้ การจัดการขยะที่ไร้ประสิทธิภาพยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การจัดการขยะโดยการเทกองรวมในบ่อ การฝังกลบ หรือการเผา ส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศ โดยการจัดการที่ผิดวิธีเหล่านี้ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซเอทีลีน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือในระบบนิเวศทางทะเล หากแพลงตอนซึ่งทำหน้าที่สร้างออกซิเจนในทะเล ดูดซึมไมโครพลาสติกเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ความสามารถในการสร้างออกซิเจนและเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในท้ายที่สุด


อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะที่ดีนั้นไม่ได้ทำได้โดยง่ายในทุกประเทศ ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือในชุมชนยากจน การจัดการขยะถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากการจัดการขยะที่ดีนั้นอาศัยงบประมาณที่สูงในการสร้างระบบการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อประชาชน ดังนั้น ในชุมชนที่มีงบประมาณในการบริหารจัดการที่จำกัด การจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดการขยะจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะมีการจัดการขยะอย่างดีและมีความรับผิดชอบ หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเลือกที่จะผลักภาระและส่งออกขยะไปยังประเทศโลกที่สามที่จนกว่า ซึ่งประชาชนและระบบนิเวศในประเทศที่มีรายได้ต่ำต้องมารับภาระและมลพิษจากขยะซ้ำซ้อน


แน่นอนว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกมุ่งผลิตสิ่งของที่มีอายุการใช้งานสั้นลงเรื่อย ๆ และนวัตกรรมใหม่ ๆ สิ่งประดิษฐ์อำนวยความสะดวกใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ปริมาณขยะก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การแก้ปัญหาการจัดการขยะจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐในระดับนโยบาย ผู้ผลิต และภาคประชาชน การจัดการขยะจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากรัฐมีนโยบายในการควบคุมปริมาณขยะระบบการจัดการขยะที่ดี และจะดีที่สุด หากรัฐเลือกระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการออกแบบเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจร หลักการของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นกว้างกว่าเพียงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) แต่เป็นการคิดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ 1) ออกแบบสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติ 2) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า และ 3) ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบ (Negative Externalities) ต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด


การแก้ไขปัญหาขยะที่มีประสิทธิภาพสูงจึงจะต้องเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ยั่งยืนรักษ์โลก และทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมต่อการจัดการขยะ

ร่วมบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนผ่านสื่อหนังสั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลงานและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ccclfilmfestival.com/submit


 

ที่มา

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: “ข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ” https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?year=2564

ธนาคารแห่งประเทศไทย: “Circular economy ทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม”

European Environment Agency (EEA): “Waste: a problem or a resource?” https://www.eea.europa.eu/publications/signals-2014/articles/waste-a-problem-or-a-resource

World Economic Forum: “We know plastic pollution is bad – but how exactly is it linked to climate change?” https://www.weforum.org/agenda/2022/01/plastic-pollution-climate-change-solution/


Comments


bottom of page