ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นกว่า 7 นิ้ว ตัวเลขอาจจะดูไม่น่าตกใจมากเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง นักสมุทรศาสตร์ จอห์น อิงแลนเดอร์ (John Englander) กล่าวว่าการเพิ่มขึ้น 7 นิ้วนี้ส่งผลให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งร่นไปกว่า 90 เมตร หรือเท่ากับความยาวของขนาดสนามฟุตบอล
การกัดเซาะชายฝั่งคือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการสึกกร่อนของหินหรือพื้นดินบริเวณชายฝั่ง
ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียโครงสร้างพื้นดิน
สาเหตุประกอบด้วยสิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ และกิจกรรมของมนุษย์ สำหรับสาเหตุจากกระบวนการทางธรณีวิทยาตามธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก การตอบสนองจากธารน้ำแข็ง การตกตะกอน และการจมตัวลงของแผ่นดิน สาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การขุดเจาะหาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำบาดาล นอกจากนี้ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ธารน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิที่สูงขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ยังซ้ำเติมให้เกิดอากาศที่แปรปรวน เกิดคลื่นและพายุที่หนักขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะที่รุนแรงและรวดเร็วขึ้น
จากการศึกษาของ Greenpeace East Asia ภายในปี 2030 หรืออีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า
เมืองหลักกว่า 7 เมืองในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อบ้านเรือน ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 15 ล้านคน กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองที่ต้องเฝ้าระวัง พื้นที่กว่า 96 เปอร์เซ็นต์จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงหากเราไม่สามารถยับยั้งหรือบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้
ในส่วนของพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยซึ่งกินพื้นที่กว่า 2,800 กิโลเมตรนี้ พื้นที่กว่า 30 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย และเป็นพื้นที่ที่สูญเสียพื้นดินกว่า 5 เมตรต่อปี อ่าวไทยคือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่หนักหน่วงนี้ก็คือหมู่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ภายในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ของขุนสมุทรจีนสูญเสียไปแล้วกว่า 2 กิโลเมตร เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ หลายครอบครัวต้องย้ายที่อยู่อาศัยหลายครั้ง โรงเรียนต้องถูกเคลื่อนย้ายออกไกลจากชายฝั่ง และมากกว่าร้อยครัวเรือนต้องย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่เพื่อเลี่ยงความเสียหาย
ผลกระทบที่ต่อเนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตที่อยู่บริเวณชายฝั่งและที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงปัญหาการสูญเสียแนวปะการังและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลในมหาสมุทรอีกมากมายด้วย
มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนผ่านสื่อหนังสั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลงานและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ccclfilmfestival.com/submit
ที่มา
Greenpeace East Asia, (2021, June 24). Sea Level Rise Poses Economic Threat to Asia Coastal Cities
ITV News | Last Chance to Save the Planet: UK not prepared for coastal erosion
ข้อมูลเพิ่มเติม
Good Morning America (ABC News) | ผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่งในมลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
BBC News | ผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่งเมืองเซนต์หลุยส์ ประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา
Photo by Leo Correa (AP) and Richard Barrow
Comments