top of page
รูปภาพนักเขียนTahn Tahntawan

ความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนในภาวะโลกรวน

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ผู้หญิง เด็ก และคนชายขอบเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วแย่ลงไปอีก


ในหลายประเทศ ผู้หญิงเป็นคนกลุ่มแรกที่เผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากบทบาททางสังคมยังคงจำกัดอยู่ที่การทำงานในภาคเกษตรกรรม เมื่อเกิดวิกฤตและภัยทางธรรมชาติต่างๆ ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับผลกระทบโดยตรง

ในประเทศที่ขาดการเข้าถึงทรัพยากร ผู้หญิงยังคงทำหน้าที่ในการเก็บฟืน ตักน้ำ เลี้ยงดูลูก และหุงหาอาหารให้กับครอบครัวเท่านั้น และในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจสูง ผู้หญิงยังไร้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และการครอบครองทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งปัจจัยทั้งหลายนี้ยังทำให้ผู้หญิงไร้สิทธิไร้เสียงในการตัดสินใจในเรื่องการสร้างนโยบายต่างๆ รวมถึงนโยบายในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าในความเป็นจริง ผู้หญิงควรจะมีสิทธิในการออกเสียงในเรื่องนี้เพราะเป็นผู้ที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด



ความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นมีหลายมิติ และบางมิติอาจจะดูไม่ชัดแต่แรก สังคมไทยมีความหลากหลาย ประชากรหลายกลุ่มอาจจะมีเงื่อนไขในชีวิตและศักยภาพต่างกันในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ปัจจัยเพศ อายุ อาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม บริบทชุมชน ศาสนา วัฒนธรรม ล้วนเป็นตัวแปรที่อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างในศักยภาพหรือความเปราะบางได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศและสังคมที่เกี่ยวโยงกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


หากลองนึกถึงบริบทของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นเกษตรกรยากจน มีการศึกษาน้อย อาศัยอยู่ในชนบทซึ่งขาดแคลนข้อมูลและเครื่องมือที่จะรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แถมเธอยังเป็นชนกลุ่มน้อยเนื่องด้วยความเชื่อทางศาสนาที่จำกัดบทบาทของผู้หญิง ผู้หญิงคนนี้จะเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทับซ้อนในหลายมิติ

ในกระบวนการสร้างพลังความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาหรือการรับมือต่อวิกฤติต่างๆ ก็จะต้องพิจารณาบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำทับซ้อน ซึ่งมีมากกว่ามิติเพศของเธอ การมองเห็นปัญหาจากหลากหลายมิติที่ทับซ้อนกันและคุ้มครองสิทธิในมิติต่างๆ ไปด้วยกัน จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียม


ปัญหาทั้งหมดที่ทับซ้อนที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญนี้ไม่ได้เกิดจากความที่โชคไม่ดีหรือเป็นเพราะคนคนนั้นเลือกเอง แต่เป็นเพราะโครงสร้างและค่านิยมทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกหรือกดขี่คนบางกลุ่มมาตลอดระยะเวลายาวนานจนรื้อหาต้นตอในแก้ปัญหาได้ยาก อาจจะเรียกสิ่งนี้รวมกันว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงนี้เป็นสิ่งที่ยากจะปรับเปลี่ยนได้ในทันที การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนส่วนมากตระหนักว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไม่สามารถก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตอื่นๆ ที่เกิดขึ้น



การเริ่มต้นจากการที่คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีโอกาสมีการมีส่วนร่วมแสดงออกและ มีบทบาทตัดสินใจเชิงนโยบาย จึงเป็นเส้นทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีความเสมอภาคทางสังคมและความก้าวหน้าที่ยั่งยืนได้

ในการออกแบบนโยบายที่เท่าเทียมเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อวิกฤตนี้ นอกเหนือจากมิติทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แล้ว จึงจำเป็นต้องนึกถึงมิติทางเพศ สังคม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของคนหลากหลายกลุ่มด้วย เพื่อที่จะสร้างนโยบายที่แก้ปัญหาที่ทับซ้อนกันในหลากมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ร่วมบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนผ่านสื่อหนังสั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลงานและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ccclfilmfestival.com/submit

 

ที่มา

United Nations Framework Convention on Climate Change: Introduction to Gender and Climate Change

Carbon Brief, (2020, December). Tackling gender inequality is ‘crucial’ for climate adaptation

United Nations: Women, Gender Equality and Climate Change

NAP Global Network: Why Gender Matters for Effective Adaptation to Climate Change


📸 ภาพจาก AP Images

Comments


bottom of page