การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลงจะทำให้ทรัพยากรและแหล่งอาหารของมนุษย์ลดน้อยลงและนำไปสู่ปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสุขภาพ และความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงแหล่งอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ วิกฤตการขาดแคลนอาหารจึงไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางสังคมซึ่งภาครัฐจะต้องสร้างนโยบายรับมือกับปัญหานี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรแหล่งอาหารได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน เพราะในอนาคต วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้สถานการณ์การขาดแคลนแหล่งอาหาร แหล่งน้ำของมนุษย์ย่ำแย่ลงกว่าเดิม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อภาคการเกษตรและการประมง ในสถานการณ์ปกติ เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน และปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนมากขึ้นหรือน้อยลงโดยคาดการณ์ได้ยากขึ้น อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตรทั้งในกระบวนการผลิต การจัดเก็บ และการขนส่ง ในด้านการประมง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลทำให้สัตว์ทะเลมีวงจรการเจริญเติบโตผิดปกติไปจากเดิม สัตว์บางชนิดย้ายถิ่นฐานก่อนฤดูกาล ระบบลูกโซ่อาหารถูกผลกระทบ สัตว์น้ำบางประเภทอาจสูญพันธุ์ จำนวนประชากรสัตว์ทะเลมีแนวโน้มลดลง และความหลากหลายทางชีวภาพลดลงของสัตว์และพืชลดลง ซึ่งเมื่อผลผลิตทางการเกษตรหรือการประมงมีจำนวนลดลง ผู้บริโภคอย่างเราก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ราคาอาหารสูงขึ้น เป็นต้น
แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีสาเหตุหลักที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งในกระบวนการผลิตและบริโภคอาหารนี้เอง ก็มีส่วนทำให้สภาพภูมิอากาศแย่ลง รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า กระบวนการผลิตอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น การทำฟาร์มสัตว์สำหรับการบริโภคนั้นมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 14.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ซึ่งยังไม่รวมขั้นตอนการขนส่งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาดสินค้าที่ต่างก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ การบริโภคอาหารอย่างฟุ่มเฟือยจนเหลือเป็น ‘ขยะอาหาร’ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัญหานี้ประเทศไทยได้วางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 โดยมีเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ ร้อยละ 5 ต่อปี การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ รัฐจะต้องทำควบคู่กับการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ให้มีแหล่งอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยอย่างเพียงพอและยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การปรับตัวเพื่อรับมือกับการขาดแคลนอาหารในอนาคตเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน นอกจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านอื่น ๆ เช่น การคมนาคม พลังงาน เป็นต้น ในด้านการผลิตอาหารและบริโภคก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่เราต้องปรับตัว ในกระบวนการผลิตอาหาร รัฐต้องร่วมมือกับผู้ผลิตในการวางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการขนส่ง ส่วนผู้บริโภคเองก็ควรพิจารณาพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร เช่น ลดการกินเนื้อสัตว์ เปลี่ยนมากินอาหารที่ผลิตจากพืช หรือลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เป็นสิ่งที่ท้าทายและยากในการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาหารและการบริโภคอาหารเป็นวัฒนธรรมสำคัญของสังคม ในขณะที่การเข้าถึงแหล่งอาหารและสารอาหารสำคัญของประชากรที่ยากจนและเปราะบางในหลายประเทศยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ร่วมบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนผ่านสื่อหนังสั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลงานและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ccclfilmfestival.com/submit
ที่มา
U.S. Environmental Protection Agency: Climate Change Indicators: Sea Surface Temperature
United Nations: The World's Food Supply is Made Insecure by Climate Change
New York Times: Your Questions About Food and Climate Change, Answered
Bangkok Post: Focus on food security
Comments