top of page

Monday Movie Club: พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก (Dark Waters)

รูปภาพนักเขียน: Nakorn ChaisriNakorn Chaisri

Dark Waters สร้างจากเรื่องจริงที่เผยแพร่ในนิตยสารนิวยอร์กไทม์ เล่าเรื่องราวของ ‘โรเบิร์ต บิลอตต์’ ทนายความและหุ้นส่วนสำนักงานกฎหมายใหญ่แห่งเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พยายามรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดีความสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณพื้นที่ฝังกลบขยะของบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ดูปองท์ (DuPont) ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย

Courtesy of Focus Features

ภาพยนตร์เรื่องนี้พาผู้ชมไปสำรวจชีวิตของโรเบิร์ตที่ทุ่มเทเวลากว่าทศวรรษต่อสู้คดีกับดูปองท์ กรณีปกปิดข้อมูลการใช้สารเคมีสังเคราะห์ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตกระทะเทฟลอนของบริษัท (ไม่ใช่สารเคลือบกระทะ) และก่อให้เกิดการรั่วไหลเจือปนสารเคมีในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชน อันส่งผลกระทบต่อสัตว์และมนุษย์ เรื่องราวการต่อสู้คดีอันยาวนานเพื่อแลกมาซึ่งความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของโรเบิร์ตนับว่าเป็นหนึ่งในคดีความก้องโลกที่ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องต่อภาครัฐและเอกชนในการวิจัยและศึกษาสารเคมีชนิดอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การจัดการและความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสารเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) อันส่งผลต่อวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการจัดการและควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการหาแนวทางในการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็น และในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐที่จะต้องออกมาขับเคลื่อนนโยบายการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งในภาพยนตร์ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อรัฐเพิกเฉยและไร้ซึ่งนโยบายควบคุมโรงงานผลิตสารเคมี ผลกระทบที่ตามมาไม่ได้มีเพียงแค่ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ชีวิตของมนุษย์และสัตว์ก็ได้รับอันตรายไปด้วย ตัวอย่างเหตุการณ์ในไทยอย่างเช่น เหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ควรเป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐในการวิจัยพัฒนาและยกระดับมาตรการการจัดการอุตสาหกรรมสารเคมีเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ดังนั้นเมื่อพูดถึงวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ การเมือง การต่อสู้และรับมือกับวิกฤตินี้มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพียงเพราะ #ฝ่ายธรรมชาติ หรือฝ่ายประชาชนเพียงอย่างเดียว ฝ่ายรัฐจะต้องทุ่มเทหาแนวทางจัดการกับวิกฤติและปัญหาสิ่งแวดล้อม การมีรัฐบาลและผู้นำที่ดีและมีวิสัยทัศน์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และที่สำคัญกว่านั้นคือ การรับฟังเสียงของประชาชนของภาครัฐเพื่อนำไปสู่แนวทางการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นอย่างยั่งยืน


แม้ว่าประเด็นวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ได้ถูกขับเน้นนำเสนอเด่นชัดในภาพยนตร์เรื่อง Dark Waters แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพยนตร์พาเราไปสำรวจมุมมองทางสังคมและบอกเล่าปัญหาเชิงโครงสร้างและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างเฉียบคม

ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แล้วทาง Apple TV app (มีคำบรรยายไทย)

คัดสรรและเรียบเรียงโดย นคร ไชยศรี

Chief Program Designer

Comments


bottom of page