top of page

Monday Movie Club: Children of the Universe

อัปเดตเมื่อ 25 ก.ย. 2564

Children of the Universe (ชื่อไทย: โรงเรียนจักรวาล) เป็นหนังสารคดีสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ของผู้กำกับ กามีย์ บูแดง (Camille Budin)

คำถามสามัญที่ยากที่สุด “ทุกอย่างเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?” พาทุกคนตั้งคำถามต่อว่าเราเป็นใครและอยู่แห่งหนใดในจักรวาลอันไร้ขอบเขตแห่งนี้


หนังติดตามคุณครูสเตฟานี จูโน (Stephanie Juneau) นักดาราศาสตร์ผู้พาเด็กๆ ชั้นประถมไปเรียนรู้จักรวาลกลางห้องเรียนธรรมชาติ ห้องเรียนที่กว้างขวางอันอัศจรรย์นี้คือเทือกเขาแอลป์ เทือกเขาที่ตั้งอยู่สูงสุดและเรียงตัวยาวที่สุดในทวีปยุโรปนี้เป็นห้องเรียนที่เหมาะกับการสังเกตหมู่ดาวต่างๆ การส่องดูดาวเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อความรู้สึกอัศจรรย์ไม่มีที่สิ้นสุดต่อชีวิตมนุษย์ โลก และจักรวาล และท้ายสุดคำถามนับแสนนับล้านที่ตอบไม่ได้ก็นำพาเรากลับมาสู่คำถามสามัญคำถามแรกเกี่ยวกับชีวิตและตัวตนของมนุษย์


เด็กๆ เดินขึ้นไปบนเทือกเขาและจินตนาการถึงจักรวาล พวกเขาหลับตาและนึกภาพว่าต้นไม้ ใบไม้และรากของมันที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขาคือดวงดาวที่หลากหลายชนิดและมีความแตกต่างกันเต็มไปหมด

เด็กๆ เจอคำถามที่ไม่ง่ายเลย เช่น จุดกำเนิดของทุกสิ่งคืออะไร ดาวเคราะห์เกิดขึ้นได้อย่างไร กาแล็กซีนับล้านมาจากไหน อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของห้องเรียนนี้คือการตั้งคำถามและการจินตนาการคำตอบ


เมื่อเด็กๆ ค่อยๆ รู้ว่าเรื่องราวของจักรวาลนี้เป็นมาอย่างไร พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองตัวจิ๋วลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ความอัศจรรย์ในใจก็ขยายโตขึ้นเรื่อยๆ “เวลาที่ฉันมองดวงดาว ฉันสงสัยว่ามันจะอยู่ไกลขนาดไหนนะ อยากจะลองไปข้างบนนั้นสักพักแล้วกลับลงมา” เด็กหญิงคนหนึ่งสงสัย ขณะที่เด็กชายอีกคนบอกว่า “อยากรู้ว่าพ้นจักรวาลนี้ไปมีอะไรซ่อนเราอยู่” แต่เมื่อได้รู้ว่าการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์เพียงดวงหนึ่งนั้นอาจจะใช้เวลามากกว่าชีวิตของพวกเขา เด็กๆ ก็เกิดความรู้สึกว่าคนที่คิดว่าตัวเองครอบครองทุกสิ่งหรือเป็นผู้พิชิตนั้นพวกเขาคิดผิดแล้วเพราะยังมีอีกหลายคำถามที่เรายังตอบไม่ได้ และมนุษย์ทั้งหมดรวมกันยังไม่แข็งแกร่งเท่าหลุมดำเลย



ขณะที่ทุกวันนี้ หลายคนคงคิดว่าโลกไม่ได้ใหญ่เกินไปที่จะออกเดินทางสำรวจหรือค้นพบอะไรที่ซ่อนอยู่ทุกซอกมุม ด้วยเทคโนโลยีการเดินทางและการสื่อสารที่ทำให้เรารู้สึกว่าการติดต่อกับผู้คนจากทุกมุมของโลกเป็นเรื่องง่ายและเป็นความสำเร็จของมนุษย์ เราจึงเผลอคิดว่าโลกมันช่างเล็ก ดาวเคราะห์ดวงอื่นอาจจะไม่ไกลเกิน และจักรวาลคงจะไม่ใหญ่ไปที่จะสำรวจหรือครอบครอง

สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตยังทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติน้อยลงด้วย เราจึงเผลอลืมไปว่าตัวเรานั้นจิ๋วนิดเดียวในจักรวาลนี้ ร่างกายของเรา “หัวใจที่เต้น” ก็เป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ ต้นไม้ อากาศ รากไม้ น้ำ ทะเล ออกซิเจน ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล และสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้โลกมีสภาวะที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้ หากลองจินตนาการดูว่าความสมดุลของสิ่งต่างๆ เกิดผันผวนมากขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น การเพาะปลูกลำบากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นขณะที่ธารน้ำแข็งกำลังละลายไปเรื่อยๆ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในป่าและท้องทะเลถูกคุกคาม เราที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมนี้จะรับมือกับผลกระทบที่มากมายนี้กันได้อย่างไร? มีอะไรที่เราสามารถบรรเทาหรือเปลี่ยนแปลงได้หรือเปล่า?


หากเด็กรุ่นต่อๆ ไปไม่มีห้องเรียนจักรวาลและธรรมชาติที่คอยเตือนว่าพวกเขาตัวเล็กเพียงใดและธรรมชาติให้ความอัศจรรย์ ความปลอดอภัย อบอุ่น และอิสระกับมนุษย์อย่างไร เด็กๆ คงจะได้อยู่ในห้องเรียนที่จำกัดความคิด ความรู้สึก และขีดจำกัดในการตั้งคำถามของพวกเขามากแน่ๆ


หนังสารคดีเรื่องนี้ช่วยให้เราได้นึกถึงความรู้สึกอัศจรรย์ต่อสิ่งต่างๆ ของเด็กๆ ที่ต่างก็อยากค้นพบ ค้นหา และเรียนรู้ การมองดูดวงดาวของเด็กๆ นั้นย้ำเตือนให้พวกเขารู้ว่ายังมีสิ่งต่างๆ ที่เราไม่รู้ ไม่มีทางรู้ แต่นั่นก็อัศจรรย์เพียงพอที่จะจ้องมองดวงดาว และสิ่งอื่นๆ ด้วยความสงสัย และยังได้ย้ำเตือนให้รู้ว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่ง ส่วนเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญไปมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใดๆ ที่ต่างประกอบสร้างขึ้นมาเป็นโลกและจักรวาลนี้เลย


สวมบทบาทเป็นเด็กเพื่อค้นพบความอัศจรรย์ของจักรวาลได้ที่ Documentary Club


คัดสรรและเรียบเรียงโดย ธาร ธารตาวัน

CCCL Team Coordinator

Comments


bottom of page