เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม CCCL ได้จัดกิจกรรมสนทนาหลังชมภาพยนตร์ I AM GRETA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม #CCCLFilmTour2021 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกและความคิดเห็นเกี่ยวกับหนัง และพูดคุยประเด็นวิกฤติโลกร้อนกับแขกรับเชิญ 3 ท่าน ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ จากสถาบัน NIDA, คุณอุ้ง กมลนาถ องค์วรรณดี จากเครือข่าย Fashion Revolution Thailand และคุณอัด อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดง นักร้องวง mints และหนึ่งในทีม SOA THAILAND ดำเนินบทสนทนาโดย คุณสิโมนา มีสายญาติ จากศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ThaiPBS
วันนี้เราเก็บบทสรุปทอล์คนี้มาให้ทุกคนได้อ่าน และร่วมสะท้อนไปด้วยกันถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศ พลังเยาวชนในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง และความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ในสรุปทอล์คหลังชม I AM GRETA ตอนที่ 1
วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มนุษยชาติถึงจุดที่หวนกลับคืนไม่ได้แล้ว
การเปลี่ยนทางสภาพภูมิอากาศเป็นวัฏจักรของโลกมานับล้านปีแล้ว โลกมีจุดที่เย็นและร้อนสลับเปลี่ยนไปในตัวมันเองอยู่แล้วตามทฤษฎีของ Milankovitch ที่อธิบายยุคน้ำแข็งและยุคอบอุ่นที่มีมาก่อนหน้านี้ และกลไกทางธรรมชาติที่ควบคุมภูมิอากาศของโลก
แต่เราเข้าสู่ยุคที่มนุษย์มาสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงมากจนทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมันเปลี่ยนไปมากกว่าปกติ กล่าวได้ว่าโลกเข้าสู่ภาวะที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะกิจกรรมของมนุษย์ โดยมนุษย์ได้ไปเพิ่มแก๊สเรือนกระจกมากขึ้น โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน
ในประเด็นเรื่องวิกฤติโลกร้อน จึงมีสิ่งที่มนุษย์ทำได้และสิ่งที่เหนือความสามารถของมนุษย์
ในความคิดเห็นของ ดร.ศิวัช เราอยู่ในจุดที่เราคิดว่าเราจะเอาตัวรอดอย่างไร โดยเฉพาะในฐานะประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยที่ไม่ได้มีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันเราก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องคำนึงถึงวิธีการปรับตัว (adaptation) ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดและกำลังจะมาถึง รวมถึงการบรรเทา (mitigation) ผลกระทบต่างๆ ด้วย
พลังของเยาวชน
หลังจากได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง I AM GRETA คุณอุ้งและคุณอัดเห็นพ้องกันว่าได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ และความเป็นเด็กคนหนึ่งของเกรียตา ได้เห็นในมุมที่ปกติเราจะไม่ได้เห็นจากสื่อและสำนักข่าวที่มักจะแสดงภาพลักษณ์ของเธอเป็นเด็กที่เกรี้ยวกราดที่แสดงกิริยาและพูดจาด้วยท่าทีที่ห้วนและฉุนเฉียวตลอดเวลา
เกรียตาในฐานะเด็กธรรมดาคนหนึ่งก็มีความอ่อนไหวและอ่อนแอเหมือนกับทุกคน แต่ความพิเศษของเธอคือความกล้าและเด็ดเดี่ยวในการลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยความมุ่งมั่น และเธอเริ่มทุกอย่างเพียงลำพังจากการมานั่งหยุดเรียนประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยด่วน
ในช่วงที่หนังเผยให้เห็นด้านที่อ่อนไหวและเปราะบางของเกรียตา คุณอัดก็เสริมว่าดูแล้วก็สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี บางครั้งมันก็มีความท้อและตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เหตุใดแค่พยายามทำบางอย่างให้อะไรมันดีขึ้นจึงต้องเสียสละมากมายขนาดนี้ แต่พอหนังจบ ก็เกิดความหวังและพลังขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่าการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นมันคือภาระของใครบ้าง? เราสามารถเริ่มทุกอย่างด้วยตัวเราอย่างที่เกรียตาทำได้จริงๆ ในบริบทสังคมไทยหรือเปล่า?
เกรียตา อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสวัสดีการที่เพียงพอ และมีความปลอดภัยในการออกมาเรียกร้อง เธอเองจึงมีความพร้อมที่จะหยุดเรียนเพื่อประท้วง ขณะที่ครอบครัวของเธอก็สนับสนุนและเคารพการตัดสินใจของเธอด้วย
ในส่วนของประเทศไทย เรากำลังต่อสู้กับกลไกของระบบที่ไม่เป็นธรรม การเริ่มที่ตัวเองอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เราต้องสู้กับทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบไปพร้อมๆ กัน
ทำไมเราถึงต้องเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?
การเรียกร้องมันเป็นเสน่ห์ของมนุษย์ จึงเป็นเหตุผลที่ ดร.ศิวัช สนใจเรื่องของเทศกาลหนังมาก เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ที่บางครั้งมันนำเราไปสู่จุดที่ไกลกว่าเรื่องของตรรกะและเหตุผล และมันก็เป็นสิ่งที่เราให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์
การออกมาเรียกร้องของเกรียตาเป็นเรื่องที่ดีที่เขาออกมาพูดเรื่องภัยที่กำลังคุกคามชีวิตของเขาและคนในรุ่นต่อๆ ไป ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้ทุกคนรวมทั้งเกรียตาเองก็ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายจากการเบียดเบียนธรรมชาติ คำถามที่คิดไม่ใช่ว่าใครถูกใครผิด แต่คือคำถามว่าทุกคนควรมาร่วมกันแก้ปัญหาหรือเปล่า เพราะทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
เสียงของเกรียตาเป็นเหมือนเสียงนาฬิกาที่ปลุกคนรุ่นใหม่ให้มาคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ดร.ศิวัชให้ความเห็นว่าเราต้องคิดในเชิงสร้างสรรค์ด้วย นวัตกรรมอะไรที่จะทำให้มนุษย์ปรับตัวและรอดได้ เช่น บ้านลอยน้ำในสวิตเซอร์แลนด์ที่เขาปรับตัวใช้ชีวิตอยู่บนบ้านลอยน้ำ หลังจากน้ำท่วมครั้งใหญ่
คุณอุ้งเสริมว่าขณะที่เราส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมในการช่วยบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว อีกมุมหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมซึ่งจำเป็นมากๆ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สิ่งรอบตัวเราล้วนส่งผลกระทบกับเราไม่มากก็น้อย การออกมาเรียกร้องให้คนตื่นจากความคิดเดิมๆ เป็นการเปิดประตูให้เราก้าวออกจากกรอบการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ตั้งคำถามกับไอเดียเรื่องการพัฒนา หรือ ความสะดวกสบายใหม่ๆ รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางภูมิอากาศที่มีรากมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม เราต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและเรียนรู้ใหม่
ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ
คุณอุ้งเน้นย้ำว่าเรื่องความเป็นธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งมนุษย์และสัตว์กำลังถูกคุกคาม คนมากมายต้องอพยพเพื่อหนีภัยที่เกิดขึ้น สัตว์หลายสายพันธ์ุกำลังสูญพันธ์ุเนื่องจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สัดส่วนของกลุ่มคนที่ปล่อยก๊าซออกมากับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบของมันนั้นมีความเหลื่อมล้ำมาก คนที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ส่วนมากคือคนที่ไร้สิทธิ ไร้เสียง และอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดทรัพยากรในการรับมือกับผลกระทบ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซออกมาเป็นจำนวนมากนั้นมีทรัพยากรในการสร้างนวัตกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีความพร้อมในการรับมือมากกว่า
การเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า คนในชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ นั้นจึงสำคัญมากที่จะมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฐานของสังคม
คุณอัดเพิ่มเติมว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแค่จะเริ่มใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เจอเงื่อนไขและอุปสรรคเต็มไปหมด พอเราทำไม่ได้ตามที่เราหวังไว้ กลับกลายเป็นว่าเราก็รู้สึกผิดกับตัวเองแทน
การเรียกร้องคือการที่เราไปพูดกับผู้มีอำนาจให้เขาเปลี่ยน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามันจะเปลี่ยนได้ตอนนี้วันนี้เลย แต่เราต้องเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ก่อน โดยให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มจากชีวิตของเรา แล้วเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบ
รับชมวีดีโอทอล์คย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/7M60QZQhmI/
ติดตามบทความสรุปทอล์คสารคดี I AM GRETA ตอนที่ 2 ได้อาทิตย์หน้า
เรียบเรียงโดย ธาร ธารตาวัน
CCCL Team Coordinator
หลังจากที่ได้ชมสารคดีเรื่อง I AM GRETA หรืออ่านบทความนี้แล้ว คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และหน้าที่ของคนรุ่นใหม่และคนทุกคนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มาร่วมแบ่งปันกันได้ค่ะ
Comentarios