8 กุมภาพันธ์ 2565 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิแสงเตรียมจัดเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ภายในเทศกาลจะมีการจัดฉายหนังสั้นที่คัดเลือกจากหนังสั้นที่ส่งเข้าร่วมเทศกาลกว่า 350 เรื่อง ซึ่ง CCCL ได้คัดเลือกฉายหนังสั้นทั้งหมด 33 เรื่อง จากประเทศไทยและอีก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แบ่งออกเป็นหนังสั้นจากประเทศไทย 20 เรื่อง และหนังสั้นจากต่างประเทศ 13 เรื่อง โดยในบรรดาหนังสั้นทั้งหมด 17 หนังสั้นที่ถูกคัดเลือกจะเป็นการฉายครั้งแรกของโลก (World Premiere) ผลงานหนังสั้นที่ผ่านการคัดเลือก อาทิเช่น เสียงกลางนา โดย ปภพ แสงคง สารคดีบันทึกบทสนทนาระหว่างการทำนาของชาวนาที่กล่าวถึงวิกฤตภัยแล้ง THE LAST WHALES โดย อิทธิพันธ์ พรหมแก้ว สารคดีบอกเล่าการอนุรักษ์วาฬผ่านมุมมองของจิรายุ เอกกุล ช่างภาพสัตว์ป่าและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวชมวาฬ เด-ปอ-ทู่ (DEPORTU) โดย ณัฐธัญ กรุงศรี หนังสั้นเล่าเรื่องของชายหนุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอที่พยายามรักษาพื้นที่ป่าในชุมชน AN EIDOLON NAMED NIGHT (ปีศาจวิกาล) โดย ฮาน ไพโอซอน หนังทดลองจากประเทศฟิลิปินส์ที่นำเสนอภาพความฝันและภาพมายาของคน สัตว์ และสิ่งของที่เกี่ยวโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม แอนิเมชันเรื่อง EGG จากผู้กำกับไต้หวัน ลี่ เว่ ชู ที่เสนอภาพอนาคตของโลกที่เต็มไปด้วยพลาสติก และ THE LIVING SEA สารคดีจากผู้กำกับวัย 12 ปี กล่าวถึงระบบนิเวศประการังในฮ่องกงที่กำลังเริ่มฟื้นคืนสภาพกลับมาสมบูรณ์ขึ้น ขณะที่ปะการังทั่วโลกกำลังจะตาย ดูรายชื่อและข้อมูลหนังสั้นที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดด้านล่าง
ทั้งนี้ หนังสั้นไทยทุกเรื่องจะได้รับการพิจารณาเข้าประกวด โดยในปีนี้ CCCL แบ่งการประกวดหนังสั้นออกเป็น 2 สาขาได้แก่ หนังสั้นประเภทสารคดี และหนังสั้นประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สารคดี โดยแต่ละสาขาจะแบ่งรางวัลออกเป็น 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 1 ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และรางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลจำนวน 15,000 บาท โดยกรรมการผู้ร่วมตัดสินได้แก่ คุณชญานิน เตียงพิทยากร (นักวิจารณ์ภาพยนตร์) คุณชลิดา เอื้อบํารุงจิต (ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์) และคุณเจษฎา สกุลคู (ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) โดยผลการตัดสินจะถูกประกาศในงานประกาศรางวัลหนังสั้นเวลา 20:00 น. ของวันเดียวกันกับเทศกาล นอกจากนี้ CCCL จะประกาศ 2 รางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลขวัญใจมหาชน (Audience Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่นับจากคะแนนโหวตของผู้เข้าร่วมเทศกาล และรางวัลยุวทูต CCCL (Youth Jury Award) ตัดสินโดยเยาวชนในโครงการยุวทูต CCCL
นอกจากการฉายหนังสั้น ผู้เข้าร่วมเทศกาลยังสามารถชมนิทรรศกาลแสดงผลงานศิลปะจาก 9 เยาวชนไทย โดยแต่ละผลงานถูกสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นการรับรู้และขยายเสียงของเยาวชนที่มีต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็น งานภาพวาดพร้อมเทคนิคการม้วนกระดาษจากพลอยใส คำยอด ซึ่งแสดงถึงการรับรู้ต่อปัญหาโลกรวนของชาวไทใหญ่ งานวรรณกรรมจากสุภชัย อุดคำและเยาวชนเกือบ 30 คน ที่จัดทำหนังสือถ่ายทอดมุมมองของเยาวชนต่อวิกฤติปัญหานี้ งานดูเดิ้ลอาร์ท (Doodle Art) จากพัชรภรณ์ อุราพร งานศิลปะจัดวางการเน่าสลายของแอปเปิ้ลจากพิรุณ ศันสนยุทธ คอลเลกชั่นภาพถ่ายจากวรัญญา มามั่งคั่ง ภาพวาดดิจิตอลโดยญาธิป ยั่งยุบล และ เฟลิกซ์ วาตานาเบะ งานดนตรีประกอบแอนิเมชั่นจากชลธร ยงยุคันธร และงานศิลปะสื่อผสมจากปรวิศา แทนรินทร์
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและลงทะเบียนรับบัตรเข้าร่วมเทศกาลฟรีที่ www.ccclfilmfestival.com/tickets หากมีคำถามหรือข้อสงสัย สามารถติดต่อเทศกาลที่ info@ccclfilmfestival.com
รายชื่อหนังสั้นเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2
A GOOD ENDING
ประเทศบังกลาเทศ, 4’
DIR. Mohammad Niyaz Hasan
PROD. Mohammad Niyaz Hasan
น้ำเป็นดั่งพรจากสวรรค์ จงอย่าทำให้มันกลายเป็นคำสาปเลย แอนิเมชันพาเราไปสำรวจความสำคัญของน้ำการรักษาและการใช้น้ำเพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
AN EIDOLON NAMED NIGHT
ประเทศฟิลิปปินส์, 13’
DIR. Hans Piozon
PROD. Hans Piozon
ผู้กำกับภาพยนตร์ฉายภาพความฝันของผู้เป็นแม่ เด็กน้อย กระบือ ชาวนา และความฝันของเขาเอง
BYCATCH
ประเทศฟิลิปปินส์, 8’
DIR. Fely Felicilda
PROD. siningko productions
ในปี 2051 ชาวประมงและลูกชายของเขาล่องเรือออกไปในมหาสมุทรเพื่อตามหาความฝัน
CITSALP
ประเทศฟิลิปปินส์, 2’
DIR. Jean A. Evangelista
PROD. Jean A. Evangelista
CITSALP เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นที่บอกเล่าผลเสียของวิกฤตมลพิษพลาสติกและชวนให้นึกถึงการผลิตและการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบ
COAST
ประเทศสิงคโปร์, 3’
DIR. Zachary Yap
PROD. Ruonan Ma
ถุงพลาสติกใบหนึ่งถูกซัดขึ้นมาบนชายฝั่ง ดูเหมือนเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำไปมา
EGG
ประเทศไต้หวัน, 6’
DIR. Li-Wei Hsu
PROD. Li-Wei Hsu
EGG is คือหนังอนิเมชั่นว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์และลูกนกที่นำพาความหวังมาสู่โลกที่พังทลาย
HEAR
ประเทศไทย, 15’
DIR. จิรธณ จิรอุดมพล
PROD. จิรธณ จิรอุดมพล
ชายหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ในการได้ยินเสียงร้องเพลงของธรรมชาติพยายามตามหาเสียงเพลงพิเศษที่ตัวเขาไม่ได้ยินมาเนิ่นนาน
JALAR
ประเทศอินโดนีเซีย, 3’
DIR. Mochamad Felix Febianto
PROD. Mochamad Felix Febianto
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาทางการเกษตรและการขาดแคลนอาหารที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
LICHENS
ประเทศไทย, 15’
DIR. การันตร์ วงศ์ปราการสันติ
PROD. การันตร์ วงศ์ปราการสันติ
ในช่วงเวลาที่ นัท ลูกชายคนเดียวของ วาสนา กำลังป่วยจากมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เขาอยากจะเดินเข้าป่ากับแม่เพื่อที่จะกลับไปหาความทรงจำของทั้งคู่ที่มีต่อพ่อ ซึ่งเป็นความทรงจำที่ทำให้ทั้งสองรู้สึกถึงความรักและเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน
LIFE CYCLE
ประเทศไทย, 8’
DIR. ปณิธาน บุญฑริก
PROD. อิสรีย์ อรุณประเสริฐ
ในอดีต ชุมชนลาดพร้าวเคยเป็นชุมชนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยขยะลอยเกลื่อนเต็มคลอง ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่ว การทำงานอาสาเก็บขยะในลำคลองอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาสั้นๆ ที่ปลายเหตุ แต่กลุ่มคนอาสาก็ทำด้วยความหวังว่าจะได้เห็นคลองลาดพร้าวกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง
PRITHVI MANTHAN
ประเทศอินเดีย, 5’
DIR. Dev Meher
PROD. Dev Meher
Prithvi Manthan (ขูดรีดผืนดิน) เป็นการอุปมาภาพการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติเกินจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตที่ไร้ความยั่งยืน
SAVE OUR SPECIES
ประเทศอินเดีย, 2’
DIR. Delwyn Jude Remedios
PROD. Department of Design, Indian Institute of Technology Hyderabad
SAVE OUR SPECIES แสดงภาพภัยที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ บนโลกไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำล่าสัตว์ มลภาวะ และการตัดไม้ทำลาย
SEL(L)FISH
ประเทศไทย, 15’
DIR. ชาคริต อินทร์จักร์, วิน มงคลเพ็ชร
PROD. อภิสิทธิ์ ปันทวงค์
การจับปลาของ 3 ชีวิต ที่เริ่มจากคิดหาอาหารสู่การแข่งขันอย่างบ้าคลั่ง
TEMPERATURE
ประเทศไทย, 5’
DIR. เมธัส จันทวงศ์
PROD. เมธัส จันทวงศ์
TEMPERATURE เป็นภาพยนตร์ทดลองที่นำเอาองค์ประกอบ ทั้งฟุตเทจ ภาพถ่ายและแอนิเมชันมาซ้อนทับกัน ให้เกิดพื้นผิวและอุณหภูมิสีที่แปลกตา เพื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิอากาศ โดยเล่าผ่านวิถีชีวิตผู้คนในแต่ละวัน ที่ปล่อยคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการใช้ชีวิตของเรานั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอดหลายปี แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถหยุดการดำรงอยู่ของเราได้ ทางออกจึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบและตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา
THE LAST DROP
ประเทศเมียนมาร์, 8’
DIR. Rajesh Daniel
PROD. SUMERNET, Stockholm Environment Institute (SEI) Asia
ในภูมิภาคตอนกลางของประเทศเมียนมา ปัญหาการขาดแคลนน้ำกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น สารคดีเรื่องนี้จะพาคุณไปสำรวจชีวิตและรับฟังเสียงของชาวบ้านที่ต้องดิ้นรนเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน
THE LAST WHALES
ประเทศไทย, 10’
DIR. อิทธิพันธ์ พรหมแก้ว
PROD. ชนิดาภา บัวสุวรรณ
THE LAST WHALES บอกเล่าเรื่องราวการอนุรักษ์วาฬผ่านมุมมองของ 'ทัวร์' จิรายุ เอกกุล ช่างภาพสัตว์ป่าและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวชมวาฬ ผู้ใช้ภาพถ่ายและการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความสำคัญของวาฬที่มีต่อมนุษย์
THE LIVING SEA
ประเทศฮ่องกง, 15’
DIR. Ema Poposka
PROD. Kids$Kids
เอม่า นักดำน้ำสกูบาวัย 12 ปี ออกเดินทางเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมปะการังในฮ่องกงถึงเริ่มฟื้นคืนสภาพกลับมาสมบูรณ์ขึ้น ขณะที่ปะการังทั่วโลกกำลังจะตาย
THE PERFECT LI(F)E
ประเทศไทย, 14’
DIR. ภูมิชญณัฐ มิตรธีรโรจน์
PROD. ภูมิชญณัฐ มิตรธีรโรจน์, กัญญาภา ตู้บรรเทิง
เรื่องราวของหญิงสาวไฟแรงคนหนึ่งที่ยอมทุ่มเททุกอย่างทั้งเวลาและสุขภาพเพื่อสร้างอนาคตที่ฝันไว้ให้เป็นจริง ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย จนกระทั่งเธอสังเกตว่าหอพักที่ตัวเองอยู่เริ่มมีงูเข้ามาบ่อยขึ้น เธอไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร แต่หารู้ไม่ว่ามันคือสัญญาณบอกว่าทุกอย่างในโลกกำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตของเธอ
VR THE WORLD
ประเทศอินเดีย, 2’
DIR. Pravin J
PROD. Department of Design, IIT Hyderabad
VR THE WORLD คือภาพยนต์อนิเมชั่นที่เล่าเหตุการณ์สมมติที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ อนาคตที่เราเผชิญการสูญพันธ์ุเพราะการทำลายป่าและการขยายตัวของเมือง
WE DIDN'T START THE FIRE
ประเทศไทย, 13’
DIR. ประพัฒน์ เข็มโคตร์
PROD. ประพัฒน์ เข็มโคตร์
ชายหนุ่มพยายามหาคำตอบว่าทำไม (อดีต) แฟนถึงได้โทรมาขอเลิกโดยไม่บอกเหตุผล แต่เขาก็ (รู้สึก) ไม่พร้อมที่จะโทรไปหาเธอสักที จนเขาเริ่มจะร้อนรนด้วยจิตใจที่สับสนไซเคเดลิค เขาต้องพยายามทำความเข้าใจว่าความรักจริง ๆ มันเป็นยังไง และจะปล่อยวางมันยังไง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้หัวระเบิด
WORLD AND ME
ประเทศอุซเบกิสถาน, 1’
DIR. Eldor Kudratillayev
PROD. Eldor Kudratillayev
ภาพยนตร์ถ่ายทอดการเดินทางอันยาวไกลของเด็กชายและแก้วน้ำในมือของเขา
YESTERDAY
ประเทศไทย, 2’
DIR. ปรเมษฐ์ อริยกุศลสุทธิ
PROD. ปรเมษฐ์ อริยกุศลสุทธิ
ในวันครบรอบ 1 ปีของการจากไปของผู้เป็นพ่อ ลูกชายกลับไปยังที่ที่เขากับพ่อเคยใช้เวลาร่วมกัน ก่อนจะพบกับสิ่งที่ไม่คาดฝันและความจริงที่น่าเศร้าของโลกใบนี้
คน-ป่า (WE AND THE WOODS)
ประเทศไทย, 13’
DIR. วีระพรรณ ถาวร
PROD. สุธีร์ เรืองโรจน์
ท่ามกลางโลกของการพัฒนาคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนของความโลภ กลุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่ง กำลังหาหนทางในการรักษาและสานสันติกับธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรมประจำปีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายพันปี
เด-ปอ-ทู่ (DEPORTU)
ประเทศไทย, 15’
DIR. ณัฐธัญ กรุงศรี
PROD. กริ่งกาญจน์ เจริญกุล
เซเก่ทู ชายหนุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอวัยเบญจเพส ลาออกจากงานในเมืองหลวง เพื่อกลับมาปกป้องป่าเดปอผืนสุดท้าย เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีนายทุนมากว้านซื้อที่เพื่อทำรีสอร์ทและแหล่งท่องเที่ยว โดยมีโจ้อดีตเพื่อนร่วมงานของเซเก่ทู ตามมาเก็บข้อมูลพื้นที่เพื่อรายงานหัวหน้าที่เป็นนายทุน เซ่เก่ทูจึงต้องหาหนทางเพื่อรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้
เบื้องหลังกำแพง (BEHIND THE WALL)
ประเทศไทย, 8’
DIR. ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์
PROD. ปฏิภาณ บุณฑริก
โรสนี นูฟารีดา หรือ ‘ดะห์’ กวีสาวชาวมุสลิม ผู้เคยเขียนบทกวีรวมเล่มจนได้เข้าชิงและเป็น Shotlisted รางวัล S.E.A. Write ในปี 2016 กำลังหาแรงบันดาลใจเพื่อแต่งกวีเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและโครงสร้างแข็งกันคลื่นในสงขลา จังหวัดบ้านเกิดของเธอเอง ทว่าคอนกรีดต่าง ๆ ที่สร้างเพื่อป้องกันการกันเซาะ แต่กลับทำให้เกิดการกัดเซาะด้านข้างมากขึ้น ภาพยนตร์เรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ของผู้คนสลับกับบทกวีที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอสัจธรรมของธรรมชาติ
ผีตาแฮก สารพันวัฒนธรรมข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ (JOURNEY OF WISDOM)
ประเทศไทย, 8’
DIR. ธนวัฒน์ ตาลสุข
PROD. ธนวัฒน์ ตาลสุข
ความเชื่อและความศรัทธาในเรื่อง ‘‘ผีตาแฮก’’ ประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการปลูกข้าวของชาวบ้านกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด สะท้อนให้เห็นการเคารพบูชาผืนดิน ซึ่งสอดคล้องกับการดูแลรักษาธรรมชาติและระบบนิเวศที่ซับซ้อนของดิน การดูแลรักษา ‘ดิน’ คือหนึ่งหนทางในการปกป้องและซ่อมแซมดินที่เสื่อมโทรมจากภัยคุกคามต่างๆ เช่นเดียวกับพิธีการสักการะบูชา ‘ผีตาแฮก’ ที่ช่วยหล่อหลอมใจผู้คนให้มีความกตัญญูและสำนึกในบุญคุณต่อธรรมชาติ
ไฟ (FIRE)
ประเทศไทย, 8’
DIR. ชนินทร เพ็ญสูตร
PROD. อลิน อักษรวรวัฒน์
เรื่องราวของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สารคดีสำรวจแง่มุมต่าง ๆ จากคนในพื้นที่และตั้งถามถึงอนาคตของเชียงใหม่ ความคาดหวัง และการเปลี่ยนแปลง
ภาพฝันเมืองเขียว
ประเทศไทย, 15’
DIR. ปฏิพัทธิ์ อัคราพูนรัตน์
PROD. ผศ.ดร.จิรศักดิ์ ปรีชาวีรกุล
สารคดีที่พาไปสำรวจแนวคิดและความสำคัญของการออกแบบเมืองเพื่อความสมดุลและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์จาก คุณยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park ที่มีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่ร้างในกรุงเทพฯ ให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะ คุณชาญชัย พินทุเสน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายดวงจันทร์ที่ออกแบบกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ระบบนิเวศป่า และคุณระริน สถิตธนาสาร เยาวชนวัย 15 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่โลกใบนี้
โลกร้อนคือไรพี่โลกร้อนแก้ไงป้า (MOTHER OF EARTH IS CRYIN’)
ประเทศไทย, 14’
DIR. ธิดารัตน์ วีระนะ, อิทธิกร นุติแก้วมงคล, ปูน สิรภพ
PROD. ธิดารัตน์ วีระนะ
สารคดีล้อเลียนบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มสามคนที่ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนเพื่อส่งประกวด
สันติ (SAN-TI)
ประเทศไทย, 11’
DIR. พงศักดิ์ เข็มทอง
PROD. พงศักดิ์ เข็มทอง
SAN-TI คือ การสำรวจ ทบทวน และตั้งคำถามกับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เชื่อมโยงและส่งผลต่อธรรมชาติภายใต้สภาวะโลกในปัจจุบัน การสานสันติสู่ธรรมชาตินั้น เราตระหนักรู้มากพอและกระทำอย่างจริงจังเพียงใด
สุดสะแนน (SUD SANAN)
ประเทศไทย, 3’
DIR. Chyarop Roc Burapat, Taras Merenkov
PROD. Chyarop Roc Burapat, Taras Merenkov
สุดสะแนนถ่ายทอดเสียงจากเครื่องดนตรีแคนไปจนถึงคลาริเน็ต และนำเสนอภาพสรรพสิ่งอันเป็นพลวัต ที่ต่างเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนสีและสัมพันธ์กันไปมาตามแสงของดวงดาว เสียงพึมพำและกู่ร้องของสิ่งต่าง ๆ สะท้อนภาพความเป็นไปของโลก ที่เติบโต งอกงามและเต็มไปด้วยชีวิต
เสียงกลางนา
ประเทศไทย, 12’
DIR. ปภพ แสงคง
PROD. ศุภนัฐพล สุขศาล
สารคดีบันทึกบทสนทนาระหว่างการทำนา ของชาวห้วยหูด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
ห้วง (ABYSS)
ประเทศไทย, 1’
DIR. นภัสจุฑา คงสนทนา, ปุณยภา สุขสมบูรณ์, นันท์นภัส เจียมอนุกูลกิจ, ฐิตารีย์ วิทยถาวรวงศ์, จิภัสสร เล้าลือชัย
PROD. นภัสจุฑา คงสนทนา, ปุณยภา สุขสมบูรณ์, นันท์นภัส เจียมอนุกูลกิจ, ฐิตารีย์ วิทยถาวรวงศ์, จิภัสสร เล้าลือชัย
มนุษย์ผู้หนึ่งลืมตาตื่นมา แล้วพบว่าตนเองอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง
เกี่ยวกับเทศกาล CCCL
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Comentarios