top of page
รูปภาพนักเขียนNakorn Chaisri

CCCL Film Festival จัดฉายหนังสั้นประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบออนไลน์



28 มีนาคม 2565 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิแสงเตรียมจัดเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ครั้งที่ 2 ในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 2-10 เมษายน 2565 ทาง www.ccclfilmfestival.com


จากผลงานหนังสั้นทั้ง 25 เรื่องซึ่งเคยฉายในเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ที่สมาคมฝรั่งเศสในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกเป็นหนังสั้นจากประเทศไทย 18 เรื่อง และหนังสั้นจากประเทศในภูมิภาคเอเชียจำนวน 7 เรื่อง อาทิเช่น เสียงกลางนา โดย ปภพ แสงคง สารคดีบันทึกบทสนทนาระหว่างการทำนาของชาวนาที่กล่าวถึงวิกฤตภัยแล้ง เด-ปอ-ทู่ (DEPORTU) โดย ณัฐธัญ กรุงศรี หนังสั้นเล่าเรื่องของชายหนุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอที่พยายามรักษาพื้นที่ป่าในชุมชน AN EIDOLON NAMED NIGHT (ปีศาจวิกาล) โดย ฮาน ไพโอซอน หนังทดลองจากประเทศฟิลิปินส์ที่นำเสนอภาพความฝันและภาพมายาของคน สัตว์ และสิ่งของที่เกี่ยวโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และแอนิเมชันเรื่อง EGG จากผู้กำกับไต้หวัน ลี่ เว่ ชู ที่เสนอภาพอนาคตของโลกที่เต็มไปด้วยพลาสติก


นอกจากนี้ ทางเทศกาลยังจัดสนทนาออนไลน์พูดคุยประสบการณ์การทำหนังกับผู้กำกับหนังสั้นและแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางเพจ CCCL Film Festival


ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและรับชมหนังสั้นได้ตั้งแต่วันที่ 2-10 เมษายน 2565 และร่วมโหวตหนังสั้นสำหรับรางวัลขวัญใจผู้ชมได้ทาง www.ccclfilmfestival.com โดยทีมหนังสั้นที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท




 

เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



Comments


bottom of page