27 มิถุนายน 2566 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festiva) ขอเชิญชวนคนทำหนังชาวไทยและคนทำหนังที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งโครงเรื่องโปรเจกต์หนังสั้นประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่จำกัดรูปแบบและแนวทางการนำเสนอ ชิงทุนสนับสนุนผลิตหนังสั้นสูงสุด 30,000 บาท
10 โปรเจกต์หนังสั้นที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนผลิตหนังสั้นและได้รับการสนับสนุนทางด้านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคำปรึกษาด้านเนื้อหาภาพยนตร์ตลอดทั้งโปรแกรม ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ที่ www.ccclfilmfestival.com/grants
เกี่ยวกับโครงการ CCCL Film Grants
ทุนสนับสนุนผลิตหนังสั้นประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCCL Film Grants) เป็นหนึ่งในโครงการของเทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia), Siam Canadian, Peter Eric Dennis และผู้บริจาคทุนสนับสนุนโครงการ โครงการมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชนและคนทำหนังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ในการผลิตหนังสั้นสะท้อนเรื่องราวผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ต่อวิกฤตโลกรวนโดยใช้สื่อภาพยนตร์ในการนำเสนอ ที่ผ่านมา CCCL สนับสนุนโปรเจกต์หนังสั้นมากกว่า 40 โปรเจกต์หนังสั้น อาทิเช่น แม่โขง – นฤมิต (MULTIVERSE OF MEKONG) โดย ปฏิภาณ บุณฑริก, ผัดไทย (PAD THAI) โดย วีรยา วิชยประเสริฐกุล, FIRST DRAFT โดย ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์, ปะนาเระ เรือเล็กอาจจะไม่ได้ออกจากฝั่ง (PANARE, SHIP ON THE SHORE) โดย ณภัทร เวชชศาสตร์ และ TEMPERATUREโดย เมธัส จันทวงศ์
เกี่ยวกับเทศกาล CCCL
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) จัดโดยมูลนิธิต้นกล้ารักษ์โลก มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน เทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนา เวิร์กช็อปประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Comments