หลังจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกเลิกเมื่อกลางปีที่แล้ว หลายคนได้แต่ตั้งคำถามและจับตามองถึงรูปแบบและแนวทางการจัดงานของเทศกาลหนังระดับโลกในปีนี้ว่าจะมีลักษณะเช่นไร และการกลับมาของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งนี้ก็ได้สร้างความสนใจและเสียงชื่นชมจากสื่อและคนทำหนังทั่วโลกมากมาย นอกจากจำนวนภาพยนตร์ที่เพิ่มมากขึ้น และโปรแกรมหนังใหม่ล่าสุดอย่าง Cannes Premiere ในปีนี้เทศกาลได้เริ่มแสดงจุดยืนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านภาพยนตร์ในโปรแกรมหนังพิเศษ และรูปแบบการจัดงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
คานส์กับภาพยนตร์สิ่งแวดล้อม
หากมองรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์หลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกคัดเลือกฉายในเทศกาลบ้างประปราย อาทิเช่น สารคดี An Inconvenient Truth กำกับโดย เดวิส กุกเกนไฮม์, Ice and the Sky กำกับโดย ลัค แจ็คเกต์ และ Okja กำกับโดย บอง จุน โฮ และสำหรับปีนี้ ดูเหมือนว่าเทศกาลหนังเมืองคานส์มีความพยายามมุ่งมั่นจัดฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าทุกปี เทศกาลได้คัดเลือกภาพยนตร์จำนวน 7 เรื่อง ที่พูดถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เช่น การเคลื่อนไหวและการเรียกร้องของเยาวชน ภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น ภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องแบ่งออกเป็น สารคดี 6 เรื่องและหนังฟิคชั่น 1 เรื่อง จะฉายในโปรแกรมพิเศษ (Special Screenings) ซึ่งเป็นโปรแกรมในสายนอกการประกวดของเทศกาล ภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องได้แก่ La Croisade (The Crusade) กำกับโดย Louis Garrel, Marcher sur l’ eau (Above Water) กำกับโดย Aïssa Maïga, Invisible Demons กำกับโดย Rahul Jain, Animal กำกับโดย Cyril Dion, I Am So Sorry กำกับโดย Zhao Liang, Bigger Than Us กำกับโดย Flore Vasseur, และ La Panthère des neiges กำกับโดย Marie Amiguet
“หลายคนมักคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของเยาวชนเกิดจากความวิตกกังวลและมีแรงจูงใจจากความหวาดกลัว. แต่จริงๆ แล้วฉันมีแรงจูงใจจากความหวังและความคิดเพื่อวันข้างหน้า... และนั่นเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์และเทศกาลหนังเมืองคานส์สามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ผู้คนมองเห็นแง่มุมเหล่านี้... ภาพยนตร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม” — เบลลา แล็กค์ นักเคลื่อนไหวทางด้านภูมิอากาศ (หนึ่งในซับเจคในสารคดีเรื่อง Animal)
เทศกาลและการจัดงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
นอกจากภาพยนตร์สิ่งแวดล้อมแล้ว ในปีนี้เทศกาลหนังเมืองคานส์ยังมีการจัดเทศกาลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าทุกปี โดยปัญหาหลักที่ทางเทศกาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการจัดการขยะ ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญที่ทางเทศกาลจะยึดปฏิบัติต่อเนื่องในระยะยาว เริ่มจาก
การเดินทางและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ: 60% ของรถรับส่งที่ใช้ภายในเทศกาลจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและระบบไฮบริด รถขนส่งมวลชนสาธารณะจะมีให้บริการทั่วพื้นที่เมืองคานส์
สื่อสิ่งพิมพ์: ลดการใช้ตั๋วแบบกระดาษและรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์
พรมแดง: เทศกาลลดการใช้พรมแดงลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งประหยัดวัสดุลงประมาณ 950 กิโลกรัม นอกจากนี้วัสดุที่ใช้สามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้
อาหารและเครื่องดื่ม: เทศกาลบริการอาหารโดยใช้วัตถุดิบในฤดูกาลและมีบริการอาหารที่ปราศจากวัตถุดิบที่ผลิตจากสัตว์
พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว: เทศกาลยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว เทศกาลจะมีบริการตู้กดน้ำทั่วเทศกาล
สินค้าและของที่ระลึก: เทศกาลจะประเมินระบบการผลิตสินค้าและจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การใช้ซ้ำและการรีไซเคิล: เทศกาลดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อแสวงหาการจัดการวัสดุเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทางเทศกาลยังรายงานอีกว่า 89% ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ) ที่เกิดขึ้นในเทศกาล เกิดจากการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน ดังนั้นเทศกาลจึงมีนโยบายให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจ่ายเงินเป็นจำนวน 20 ยูโร (ประมาณ 775 บาท) เพื่อนำไปบริจาคให้กองทุนการจัดการปริมาณคาร์บอนของพื้นที่และหน่วยงานนานาชาติอีกด้วย
นอกจากเทศกาลหนังเมืองคานส์แล้ว เทศกาลหนังอื่นๆ ก็เริ่มหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินได้ใช้พรมแดงที่ผลิตจากตาข่ายจับปลาทั้งหมด เป็นต้น นโยบายเหล่านี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของเทศกาลหนัง เราหวังว่าเทศกาลหนังอื่นๆ และองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะพยายามออกนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมและดำเนินการหรือปรับใช้ต่อไป ...ให้ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
อ้างอิงจาก
Comments