top of page

CCCL คัดเลือก 10 โปรเจกต์หนังสั้น รับทุนผลิตหนังสั้นประจำปี 2567

รูปภาพนักเขียน: Nakorn ChaisriNakorn Chaisri

28 พฤษภาคม 2567 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิต้นกล้ารักษ์โลก ขอแสดงความยินดีกับ 10 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น จากโครงการทุนสนับสนุนภาพยนตร์สั้นประจำปี 2567 โดยการสนับสนุนจาก Siam Canadian, Peter Eric Denis และผู้บริจาคนำโดย Michael Herrin, Chris Lowenstein, และ Luciano Prantera

ตลอดระยะเวลาการเปิดรับสมัครทุน ทางเทศกาลได้รับผลงานจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสิ้น 159 เรื่อง สำหรับการคัดเลือกโปรเจกต์ในปีนี้ นอกจากทีมคัดเลือก CCCL ได้รับเกียรติจากดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรับเชิญ คัดเลือกผลงานจำนวน 10 เรื่องที่นำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่างๆ พร้อมรูปแบบแนวทางการเล่าเรื่องที่น่าค้นหาและเชื้อเชิญให้ตั้งคำถาม โดยโปรเจกต์ที่ได้รับทุนทั้งหมด ได้แก่


ငါတို့နေရာ (OUR PLACE) (ประเทศเมียนมา)

DIR. Theingi Win PROD. Thida Swe

สารคดีติดตามชีวิตของอูเซน ชาวนาในวัยหกสิบ ที่สูญเสียที่นาของเขาตั้งแต่ปี 2021 จากการกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำ ครอบครัวของอูเซนเป็นหนึ่งในหลายครอบครัวที่สูญเสียนาข้าวจากการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวอูเซนต้องเช่านาทำกินยังชีพ และต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวที่จะสูญเสียแหล่งทำกินที่เหลือเพียงน้อยนิด จากการกัดเซาะที่ดินทำกินที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทำลายความมั่นคงในชีวิตและอนาคตของชาวนาในหมู่บ้านนัทแยกาน ประเทศเมียนมา


เกี่ยวกับผู้กำกับ

Theingi Win เป็นคนทำหนังที่อาศัยอยู่ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เธอสำเร็จการศึกษาในโปรแกรมการฝึกอบรมการสื่อสารมวลชนและมัลติมีเดียที่ Myanmar Journalism Institute (MJI) ในปี 2017 และในปีเดียวกันนั้น เธอได้เข้าร่วมเทศกาล Yangon Photo Festival (YPF) จากผลงานเล่าเรื่องภาพถ่ายของเธอเรื่อง “Being Able” ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในกลุ่มคนพิการ ด้วยความสนใจในด้านสารคดี เธอจึงตัดสินใจศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ที่ Yangon Film School (YFS) ในปี 2020

 

ENOUGH (ประเทศไทย)

DIR. อัปสร โอริญาเบลล์ เมนิล  PROD. ธาร ธารตาวัน

ไลลา หญิงสาววัยยี่สิบกว่า ตื่นขึ้นมาขึ้นมาใช้ชีวิตยามเช้าตามปกติ แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่ดูแสนเรียบง่าย แท้จริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น


เกี่ยวกับผู้กำกับ

อัปสรเริ่มทำงานในประเทศเมียนมาที่บริษัท Z Productions ในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ ผู้ช่วยผู้กำกับ ผู้กำกับศิลป์ และผู้กำกับ ที่ผ่านมา เธอได้ทำงานในโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียง หน่วยงาน และลูกค้าต่าง ๆ ในประเทศเมียนมา เช่น Sai Sai, Nay Toe, Wutt Mhone Shwe, Mango, Nexlab, Unilever, and KBZ bank เป็นต้น ในประเทศไทย อัปสรมีประสบการณ์ทำงานกับ Greenlight Films ในตำแหน่งผู้ประสานงานโปรเจกต์ ปัจจุบันเธอทำงานที่ Lalicorn Agency


 

SHEPHERD BOY'S DREAM (ประเทศเวียดนาม)

DIR. Nguyen Hoang Viet  PROD. Nguyen Lam Ha

ภัยแล้งในพื้นที่แร้นแค้นประเทศเวียดนามทำให้แกะและเด็กเลี้ยงแกะยิ่งลำบากมากกว่าเดิม หนึ่งในนั้นคือ เฮียบ เด็กเลี้ยงแกะในชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จาม เฮียบต้องออกจากโรงเรียนเพราะต้องช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ในทุกๆ วัน เขาต้องเดินไกลถึง 30 กิโลเมตร เพื่อต้อนแกะกว่า 300 ตัว ไปหาแหล่งอาหารที่มีหญ้าสดและน้ำ การเดินทางของเฮียบเริ่มต้นขึ้นพร้อมขวดน้ำ กล่องข้าว และรองเท้าแตะคู่หนึ่ง


เกี่ยวกับผู้กำกับ

Nguyen Hoang Viet มีประสบการณ์กว่า 8 ปีในฐานะนักข่าวที่ Zing News ที่ประเทศเวียดนาม ก่อนผันตัวมาเป็นนักทำหนังสารคดี เขามีความตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานสารคดีคุณภาพและนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ที่ผ่านมาเขาเคยพลิตผลงานสารคดีให้องค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น Four Paws และ Save Vietnam’s Wildlife.


 

ON POTOK NA EYENEDE (OUR LAND IS THREATENED) (ประเทศฟิลิปปินส์)

DIR. Bradley Jason Pantajo  PROD. Carlo Enciso Catu

เด็กชายจากชนเผ่าพื้นเมืองดูมากัด-เรมอนตาโด ได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเด็กเขากับพี่ชายได้ยินเสียงระเบิดดังในใจกลางป่าของหมู่บ้าน


เกี่ยวกับผู้กำกับ

Bradley Jason Pantajo เป็นคนทำหนังและศิลปินละครชาวฟิลิปปินส์ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปะการแสดงจากมหาวิทยาลัยสารพัดช่างแห่งฟิลิปปินส์ เขาเคยเข้าร่วมโครงการ Indiegenius ซึ่งเป็นโครงการของ Netflix และ IAcademy ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมคนทำหนังชาวเอเชียรุ่นใหม่ เขายังเคยร่วมโครงการ Climate Story Lab จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ Active Vista, British Council และ Picture People

 

TOMORROW, TO FEEL (ประเทศฟิลิปปินส์)

DIR. Maki Makilan  PROD. Aiah Gertos

ในช่วงปลายทศวรรษ 2040s เมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ วิกฤตโลกรวนถึงขีดสุด เศรษฐกิจล่มสลาย ชีวิตคู่ของ แว็กซ์และฟิลที่กำลังเสื่อมถอยก็ถูกสั่นคลอนจากพี่ชายของแว็กซ์ ที่เข้ามาร่วมอาศัยอยู่ในห้องเช่าของพวกเขา ชีวิตของคู่รักต้องสะดุด ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกในสังคมที่มีแต่ความอดอยาก ..ทั้งสองหยุดความสัมพันธ์เพื่อที่จะกลับรู้สึกถึงความรู้สึกกันในวันวาน


เกี่ยวกับผู้กำกับ

Maki Makilan เป็นคนทำหนังเกิดที่จังหวัดเนโกรสโอกซีเดนตัล เมืองเกซอนซิตี้ ประเทศฟิลิปปินส์ เธอเพิ่งสำเร็จการศึกษาด้านภาพยนตร์จาก University of the Philippines Film Institute หนังสั้นของเธอเรื่อง FOUR YEARS AFTER ได้รับรางวัลมากมายรวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงาน Black Beret จัดโดย UP Film Institute ในปี 2022 นอกจากนี้หนังสั้นของเธอยังได้จัดฉายในโปรแกรม Cinemata Visions: Lived Lives in the Present Struggle


ในฐานะคนทำหนังชาวเควียร์และคนต่างถิ่น ผลงานของเธอสำรวจเรื่องราวการเมืองเกี่ยวกับ ชีวิต และความรู้สึกของตัวเอง เสนอ และมองหาความเป็นได้ใหม่ๆ ในการนำเสนอในพื้นที่ต่างๆ และยุคสมัย ปัจจุบัน มากิทำงานเป็นผู้กำกับภาพให้กับโปรดักชันอิสระ และทำงานในโปรเจกต์อิสระของเธอเองในฐานะมือเขียนบทและผู้กำกับ

 

NOSEBLEED (ประเทศไทย)

DIR. ธนาธรณ์ ธนาเลขะพัฒน์  PROD. ธนาธรณ์ ธนาเลขะพัฒน์, ปุณวัชร์ เจริญลาภกุล

ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นเหตุให้เด็กมัธยมหญิงเลือดกำเดาไหลเปื้อนเสื้อ เธอจึงต้องรีบหาเสื้อตัวใหม่มาเปลี่ยนให้ทัน ก่อนถึงเวลาขึ้นไปอ่านกลอนที่ได้รางวัลบนเวทีงานโรงเรียน


เกี่ยวกับผู้กำกับ

​​ธนาธรณ์ ธนาเลขะพัฒน์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ เอกวิเคราะห์และวิจารณ์ภาพยนตร์ ได้รับทุนการศึกษา BU Creative Awards และยังเคยได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการของนักเรียนหนังระดับอาเซียน Film Leader Incubator (FLY) ประจำปี 2018 ที่จัดโดย Busan Film Commission และ Busan Asian Film School


ธนาธรณ์มีประสบการณ์เขียนเกี่ยวกับบทวิจารณ์ภาพยนตร์และการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ โดยผลงานเด่นๆคือการเปิดเพจหนังชื่อ "เทพเจ้าคอนเน็ตโต้" และทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ โดยมีผลงานเด่นคือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 3 ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “ONE FOR THE ROAD วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ” นอกจากนี้ยังทำหนังสั้นประกวดของตัวเอง และได้เข้าร่วมเทศกาลต่างๆ เช่น The 60 Second Film Festival, Thai Short Film and Video Festival เป็นต้น เขายังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศบทวิจารณ์ภาพยนตร์ในค่ายชมรมนักวิจารณ์รุ่นเยาว์ จัดโดยหอภาพยนตร์ เมื่อปี 2012 และล่าสุดได้มีโอกาสรับเลือกเข้าโครงการ Content Lab โครงการที่พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในวงการภาพยนตร์ประจำปี 2023 ปัจจุบันเขาเป็น Content Creator ให้กับ ‘วิฬารปรัมปรา’ สื่อผลิตหนังสั้นแนวสยองขวัญ และเป็น Freelance Creative ในการโปรโมทภาพยนตร์

 

ภูเขาคำราม (MOUNTAIN ROARS) (ประเทศไทย)

DIR. ภพวรัท มาประสพ  CO-DIR. & PROD. ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์

ตำนานของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ ภูเขาแห่งหนึ่ง ได้ถูกเสียงระเบิดและเสียงประท้วงของชาวบ้านจากภูเขาอีกฟาก ดังข้ามมาปกคลุมพื้นที่แห่งนี้


เกี่ยวกับผู้กำกับ

ภพวรัท มาประสพ สนใจภาพยนตร์แนวทดลองที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและประวัติศาสตร์ไทย หนังสั้นสารคดีล่าสุดของเขา “หอมสุวรรณ” ได้ร่วมฉายที่เทศกาลต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ




ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์ เธอสนใจงานศิลปะและภาพยนตร์ “CRYSTALLISED MEMORY” ภาพยนตร์สั้นล่าสุดของเธอได้เข้าร่วมฉายในเทศกาลต่างๆ ทั้งในไทย และต่างประเทศ ปัจจุบันเธอกำลังทำโปรเจคภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่อยู่



 

RED OCEAN (ประเทศไทย)

DIR. เจษฎา ขิมสุข  PROD. ศุภชัย ทองศักดิ์

เรื่องราวการเดินทางของสัตวแพทย์ทางทะเลที่ออกปฏิบัติภารกิจกอบกู้ทะเลจังหวัดตรังจากวิกฤตโลกเดือดที่อาจส่งผลให้สัตว์ทะเลหายากสูญพันธุ์ไปตลอดกาล


เกี่ยวกับผู้กำกับ

เจษฎา ขิมสุขชื่นชอบการทำหนังสารคดี เพราะได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน ผลงานที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัล Best Documentary จากเทศกาล fuse. Kids Film Festival 2023 กับภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่องแรกที่ชื่อว่า 600 MILES ปัจจุบันมีผลงานภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่องที่สองชื่อว่า LOST IN MEKONG และคงยังมองหาเรื่องราวที่มีแง่มุมใหม่ๆ เพื่อมาสร้างสรรค์เป็นหนังสารคดีต่อไป

 

อเวจีสีขาว (ULTRAMARINE) (ประเทศไทย)

DIR. ธนภัทร พ่วงสุวรรณ   PROD. องค์อร จงประสิทธิ์

กลุ่มผู้หญิงในชุมชนบ้านจ้อง พยายามฟื้นฟูหนองน้ำพุซึ่งไม่มีน้ำพุดขึ้นมานานแล้ว ด้วยการปลูกดอกป้าน (บัวแดง) เพื่อบำบัดน้ำ และปักผ้าลายหนองน้ำพุเพื่อสื่อสารกับสาธารณะชนให้เห็นความสำคัญของหนองน้ำพุ


เกี่ยวกับผู้กำกับ

ธนภัทรจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานแอนิเมชันสั้นเรื่องว่า เลี้ยงให้โลกรู้ (SHARENTING) ซึ่งเป็นงานธีสิสของเขาชนะรางวัล Best Film, Best Animation, และ Best Editing จากโครงการ fuse. Film Festival 2023 และได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลปยุตเงากระจ่าง เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 27

 

เรื่องราวสีดำจากทะเลสีคราม (CHRONICLE OF BLUE) (ประเทศไทย)

DIR. & PROD. อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

ปูทหารอาศัยอยู่ในรูริมทะเล เมื่อเวลาน้ำลงจึงออกมาจากรูเพื่อหากิน เมื่อน้ำขึ้นหรือเมื่อมีภัยก็จะหนีลงรู แล้วใช้ทรายปิดปากรู แต่เมื่อที่อยู่อาศัยของปูถูกบุกรุกโดยมนุษย์ รวมถึงได้รับมลพิษอย่างรุนแรงจึงทำให้จำนวนปูลดลง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาใต้ทะเลอาทิเช่น ปะการังฟอกขาว และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลกำลังคืบคลานเข้ามาหาเราอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว


เกี่ยวกับผู้กำกับ

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ จบการศึกษาจาก สาขาภาพยนตร์และดิจิทัล มีเดีย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบได้ไปศึกษาต่ออนุปริญญา สาขา Producing และ Production Design ด้าน Film Production ที่ Vancouver Film School (VFS) ประเทศแคนาดา ปัจจุบันย้ายกลับมาไทยได้ประมาณ 5 ปี ทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ผู้กำกับศิลป์ และคนเขียนบท 


ผลงานที่ผ่านมาของอิสรีย์ได้รับคัดเลือกเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์และได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ คนหลังเขา (CORDILLERA SONGS) ได้รางวัล Jury Award ในสาขาภาพยนตร์สารคดีในเทศกาล CCCL Film Festival 2024 ซึ่งเป็นโปรเจ็คที่ได้ทำร่วมกับเพื่อนๆ จากเวิร์คชอปของ Chiang Rai Film Club, LIFE CYCLE ยังได้รางวัล Audience Award ในสาขาภาพยนตร์สารคดี จาก CCCL Film Festival 2022 นอกจากนี้ หนังสั้นไฟนอลโปรเจกต์จาก VFS ยังได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์อีกมากมาย เช่น Best Student Film จาก Creation International Film Festival 2018, Best LGBTQ Film and Best Directo จาก Oniros Film Awards 2018, Best LGBT Film and Best Student Actress จาก European Cinematography AWARDS (ECA) 2018 และได้ Official Selection ฉายในเทศกาล Vancouver Queer Film Festival 2019 (Local Short Program)

 

เกี่ยวกับกรรมการตัดสินรับเชิญ

ดร.กฤษฎา บุญชัย จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และระดับปริญญาเอก สาขาการเมืองเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดร.กฤษฎา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA)


เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

コメント


bottom of page