top of page

CCCL คัดเลือก 10 โปรเจกต์หนังสั้น รับทุนผลิตหนังสั้นประจำปี 2566

รูปภาพนักเขียน: Nakorn ChaisriNakorn Chaisri


18 พฤษภาคม 2566 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิต้นกล้ารักษ์โลก ขอแสดงความยินดีกับ 10 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น จากโครงการทุนสนับสนุนภาพยนตร์สั้นประจำปี 2566 โดยการสนับสนุนหลักจาก Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia

ตลอดระยะเวลาการเปิดรับสมัครทุน ทางเทศกาลได้รับผลงานจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสิ้น 113 เรื่อง และได้คัดเลือกผลงานจำนวน 10 เรื่องที่นำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ผู้ที่ได้รับทุนทั้งหมด ได้แก่


AVOCADO ON PANCAKES โดย ชินานาง ธำรงธนกิจการ (ประเทศไทย)

แจ๊คกับโรสแอบเป็นชู้กันในบริษัท ทั้งคู่ไปดื่มฉลองที่ร้านอิซากายะกันสองต่อสองและเริ่มมีปากเสียงกัน


เกี่ยวกับศิลปิน

ชินานาง ธำรงธนกิจการจบการศึกษาจากภาควิชาภาพยนต์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอมีประสบการณ์ทำงานให้กับเอเจนซี่โฆษณาตำแหน่ง Copywriter ได้ระยะเวลาประมาณปีกว่า ณ ตอนนี้เธอยังมีความสุขกับการเขียน และคอยหาทางกลับเข้าไปในวงการภาพยนตร์อยู่ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

DAY OF THE EVERLASTING SUN โดย Hans Rivera (ประเทศฟิลิปปินส์)

เมื่อแสงอาทิตย์เจิดจ้าไม่ลาลับตลอดทั้งวัน คนทำอิสระคนหนึ่งจึงเริ่มบันทึกกิจกรรมแปลกประหลาด ของผู้คนในวันที่อากาศร้อนที่สุดและยาวนานที่สุดของปี


เกี่ยวกับศิลปิน

Hans Rivera เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์และศิลปินจากประเทศฟิลิปปินส์ ผลงานหนังสั้นของเขาเคยได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลทั้งในและต่างประเทศ เขายังเคยเข้าร่วมโครงการ Cinemalaya’s Intensive Scriptwriting Workshop และ SGIFF Southeast Asian Film Lab 2022 เขาและกลุ่มเพื่อนได้ก่อตั้งกลุ่ม Pothos Collective ซึ่งเป็นกลุ่มนักเล่าเรื่องที่มีแนวทางการสร้างภาพยนตร์ที่สำรวจประสบการณ์ชีวิตและการต่อสู้ของคนในชุมชน งานของเขาเน้นไปที่งานเชิงทดลองเกี่ยวกับผัสสะ ความสัมพันธ์ทางกายภาพ และทางอภิปรัชญาระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสถานที่ และแง่มุมความเห็นอกเห็นใจของสิ่งต่าง ๆ

 

MEET THE INDIGENOUS PEOPLE REGROWING A RAINFOREST IN MALAYSIA โดย Bryan Yong (ประเทศมาเลเซีย)

ชาวบ้านชนพื้นเมือง Jahai ที่อาศัยอยู่ใน Royal Belum State Park ประเทศมาเลเซีย กำลังช่วยเหลือทีมอนุรักษ์ป่าฝนในการปกป้องป่าฝนตามความรู้ของชนพื้นเมืองและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขายกล้าไม้พื้นเมืองให้กับทีมอนุรักษ์เพื่อช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม


เกี่ยวกับศิลปิน

Bryan Yong เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านการวิจัยสมุทรศาสตร์ เขาจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาแต่มีความสนใจในการเป็นนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อว่าการเชื่อมช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับประชาชนทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญ


Bryan ยังเป็นช่างภาพที่กระตือรือร้น แม้ว่าเขาเพิ่งเข้าสู่วงการวิดีโอได้ไม่นาน สำหรับเขานั้น ส่วนที่ยากที่สุดในการสร้างวิดีโอเรื่องราวสิ่งแวดล้อมที่ดี คือการเปิดใจทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะเข้าใจซับเจกต์ในสารคดี Bryan ชอบท่องเที่ยวและทานอาหารริมทาง เขาเลือกใช้จ่ายแบบเรียบง่ายและซื้อของสดที่หน้าตาอาจดูยา แต่ก็ยังคงรับประทานได้

 

PAMALANDONG SA LAMAKAN (REFLECTION IN THE MARSHLAND) โดย Breech Asher Harani (ประเทศฟิลิปปินส์)

'Pamalandong sa Lamakan' เล่าเรื่องราวหนึ่งวันในชีวิตของครอบครัวชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใน Agusan Marsh เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง


เกี่ยวกับศิลปิน

Breech Asher Harani เป็นนักทำหนังจากจังหวัด Davao De Oro ประเทศฟิลิปปินส์ เขาสร้างภาพยนตร์ที่จัดการกับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนในฟิลิปปินส์ เขากลายเป็นชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รับรางวัล Young Creative Award จาก International Academy of Television Arts and Sciences และเป็นศิลปินชาวฟิลิปปินส์เพียงคนเดียวในลิสต์ '30 Under 30' Arts 2020 ของ FORBES Asia

 

TRIP OF BETH LIHIM โดย Purple Romero (ประเทศฟิลิปปินส์)

คู่รักเลสเบี้ยนวัยชราพยายามหาบ้านใหม่ หลังจากที่บ้านของพวกเขาถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มในจังหวัดเลย์เต แต่ทว่าพวกเธอไม่ได้เป็นคู่สมรสต่างเพศตามกฎหมาย พวกเธอจึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเยียวยาจากโครงการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติของรัฐบาล


เกี่ยวกับศิลปิน

Purple Romero เป็นนักข่าวชาวฟิลิปปินส์ที่เชี่ยวชาญในการรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นเรื่องเพศ เธอเคยเข้าร่วมเวิร์กช็อปภาพยนตร์สั้นจัดโดย Lensational ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ช่วยฝึกอบรมสตรีข้ามชาติในหัวข้อการเล่าเรื่องด้วยภาพ เธอยังได้รับคัดเลือกในโครงการพัฒนาโปรแกรมเมอร์ภาพยนตร์ของ Woods Hole Film Festival ปี 2023 อีกด้วย นอกจากนี้ในปี 2021 เธอได้ศึกษาจบหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับวารสารศาสตร์และภาพยนตร์เอเชีย ซึ่งจัดโดย Five Flavours Asian Film Festival

 

ณ ค่ำคืนนั้นทะเลได้เปลี่ยนไป โดย อธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา (ประเทศไทย)

ชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งเลิกกับแฟนและได้พบเจอกับหญิงสาวปริศนาริมกำแพงกันคลื่น ซึ่งการพบกันครั้งนี้ ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าวิธีการของเขาไม่สามารถแก้ได้ทุกปัญหา


เกี่ยวกับศิลปิน

อธิพัฒน์ เลิศกรกิจจา เกิดและเติบโตในกรุงเทพมหานคร เขาจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง โดยมีผลงานล่าสุด “ยามตะวันลับ” ซึ่งเป็นหนังสั้นวิทยานิพนธ์ความยาว 35 นาที โดยทั่วไปมีความสนใจในประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ โดยประเด็นหลักที่สนใจคือผลกระทบของแนวคิดทุนนิยม/บริโภคนิยมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

 

ผีจากผ้าอ้อม (TWILIGHT WITHOUT GHOSTS) โดย ปณิธาน บุณฑริก

เมื่อตำนาน “ผีตากผ้าอ้อม” กำลังจะสิ้นสุดลงเพราะการตายของแมงมุมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ นั่นไม่ใช่แค่การสูญเสียของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ แต่คือการสาบสูญของวัฒนธรรมและเรื่องเล่าความเชื่อพื้นถิ่นที่งดงาม อันเนื่องมาจากมนุษย์


เกี่ยวกับศิลปิน

ปณิธาน บุณฑริก เกิดปี 2536 ที่กรุงเทพมหานคร เขาจบการศึกษาจาก ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดียจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบได้เริ่มทำงานภาพยนตร์โฆษณาในฐานะ ผู้กำกับอิสระ และครีเอทีฟ รวมถึงยังทำโปรเจคภาพยนตร์สั้นเข้าร่วมในเทศกาลนานาชาติ เช่น เทศกาล International Thai Film Festival, Indie Shorts Awards, Sweden Film Awards, Venice Shorts Film Awards, Asian Cinematography Awards, CCCL Film Festival, One Earth Awards, และ The 60 Second Film Festival เป็นต้น


ปณิธานมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเล่า ตำนาน และ "ความเชื่อ" ในแต่ละภูมิภาค รวมถึงเรื่องราวทางจิตวิญญานและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของคนไทยที่สืบต่อกันมา ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่ส่งผลต่อความปัจเจกของตัวบุคคลและความเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน เขาจึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสื่อสารถึงเรื่องราวดังกล่าวอยู่เสมอ

 

ฝนแล้ง (WATSAKAN) โดย ประกาศิต สอดศรี (ประเทศไทย)

ผู้ใหญ่มอด จัดงานบุญบั้งไฟขอฝนกับพยาแถน เพื่อให้เทพพญาแถนส่งฝนมาให้กับที่นาที่แห้งแล้ง แต่สิ่งที่ตกลงมายังพื้นที่นาของเขากลับเป็นบั้งไฟที่พวกเขาจุด ทำให้ไฟลามไหม้ทั่วทั้งป่า


เกี่ยวกับศิลปิน

ประกาศิต สอดศรี เกิดและเติบโตที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 4 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ เขามีความฝันอยากจะเป็นผู้กำกับที่เน้นเล่าเรื่องราวความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวอีสาน

 

หนองน้ำพุในความทรงจำ โดย นันทชัย ภู่โพธ์เกตุ (ประเทศไทย)

กลุ่มผู้หญิงในชุมชนบ้านจ้อง พยายามฟื้นฟูหนองน้ำพุซึ่งไม่มีน้ำพุดขึ้นมานานแล้ว ด้วยการปลูกดอกป้าน (บัวแดง) เพื่อบำบัดน้ำ และปักผ้าลายหนองน้ำพุเพื่อสื่อสารกับสาธารณะชนให้เห็นความสำคัญของหนองน้ำพุ


เกี่ยวกับศิลปิน

นันทชัย ภู่โพธ์เกตุ เกิดเมื่อปี 2528 ที่จังหวัดเชียงราย สำเร็จการศึกษาในระดับนิเทศศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชา การประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลงานในปัจจุบันคือ การทำสื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กเละเยาวชน และทำสื่อเกี่ยวกับกระบวนสุขภาวะทางเพศ รวมถึงมีผลงานงานด้านโทรทัศน์ในรายการ ‘ที่นี่บ้านเรา’ ตอน ‘แรงงานบ้านจ้อง’ เผยแพร่ทาง ช่องไทยพีบีเอส ปี 2562 นันทชัยยังเป็นนักข่าวพลเมือง ThaiPBS อีกด้วย

 

ព្យុះគ្នានសំលេង (SILENT FLOOD) โดย Panha Theng (ประเทศกัมพูชา)

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่น้ำท่วมฉับพลัน ชีวิตของหญิงสาวสองคนต้องพังทลายหลังจากน้องสาวของเธอและตัวเธอเองถูกคุกคามทางเพศระหว่างการเดินทางเพื่อย้ายไปยังที่พักพิงชั่วคราว หนังสั้นเรื่องนี้พยายามนำเสนอให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อปกป้องผู้หญิงและเด็กทั้งก่อน ระหว่าง และหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


เกี่ยวกับศิลปิน

Panha Theng เป็นคนทำหนัง คนตัดต่อ และโปรดิวเซอร์ที่เกิดในกัมพูชา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานที่กระตุ้นความคิดและสร้างผลกระทบ เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการสื่อสาร สื่อและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จาก Sciences Po เมืองปารีส และได้พัฒนาฝีมือของเธอผ่านการร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนและโครงการสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม


ผลงานของ Panha มักจะสำรวจสภาพของมนุษย์ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในกัมพูชาและที่อื่น ๆ ผ่านมุมมองของเธอในฐานะสมาชิกชาว LGBTQ+ Panha มุ่งมั่นที่จะทลายกำแพงทางสังคมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านงานศิลปะของเธอ ผลงานของเธอจึงเป็นกระบอกเสียงอันทรงพลังสำหรับกลุ่มคนชายขอบ และเรียกร้องให้มีการตระหนักรู้และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

 

เกี่ยวกับเทศกาล CCCL

เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Comments


bottom of page