26 พฤษภาคม 2565 - กรุงเทพมหานคร — เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) ภายใต้มูลนิธิแสง ขอแสดงความยินดีกับ 6 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น จากโครงการทุนสนับสนุนภาพยนตร์สั้นประจำปี 2565 โดยการสนับสนุนจาก Heinrich Böll Stiftung Southeast Asia
⠀
ตลอดระยะเวลาการเปิดรับสมัครทุน ทางเทศกาลได้รับผลงานจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งสิ้น 98 เรื่อง และได้คัดเลือกผลงานจำนวน 6 เรื่องที่นำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงเนื้อหาและมุมมองการนำเสนอ ผู้ที่ได้รับทุนทั้งหมด ได้แก่
ผัดไทย โดย วีรยา วิชยประเสริฐกุล
สารคดีสะท้อนปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านเมนู “ผัดไทย” หนึ่งในสุดยอดอาหารไทยที่คนทั่วโลกต่างรู้จัก
เกี่ยวกับวีรยา วิชยประเสริฐกุล
วีรยา วิชยประเสริฐกุล (มิน) สนใจเรื่องการทำสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยขณะที่เรียนสามารถคว้ารางวัลสารคดีชนะเลิศระดับประเทศจากผลงาน “โรงเรียนไม่มีขา” หลังจากเรียนจบมินได้ทำงานในตำแหน่งของครีเอทีฟและพิธีกรรายการกบนอกกะลา หลังจากนั้นได้ลาออกมาเป็นโปรดิวเซอร์ ครีเอทีฟ และพิธีกรอิสระ รับทำสารคดีสั้น รายการทีวีเพื่อการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งรายการโรงเรียนไม่ธรรมดา รายการอาชีพกลายพันธุ์ รายการโลกหลังโควิด ทางช่อง Thai PBS เป็นต้น มินสนใจประเด็นเรื่องของการศึกษา วัฒนธรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมินเคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาล CCCL Film Festival 2020 จากผลงานเรื่องป่า-ฝั่ง-เมืองอีกด้วย ปัจจุบันมินยังคงเดินหน้าทำสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในบทบาทเบื้องหลังในฐานะโปรดิวเซอร์และผู้กำกับสารคดี และบทบาทเบื้องหน้า ทั้งงานพิธีกร และวิทยากรบรรยายเรื่องการทำสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ละอองธุลี โดย ธนกฤต กฤษณยรรยง
บทสนทนาของมนุษย์ฝุ่นในเมืองฝุ่นที่ใช้ชีวิตในดินแดนแห่งควันหนา หมอกฝุ่น ดั่งฤดูกาลหมุนเวียนครบรอบซ้ำแล้วซ้ำอีก
เกี่ยวกับธนกฤต กฤษณยรรยง
ธนกฤต กฤษณยรรยง เป็นสมาชิกรุ่นที่ 4 ของครอบครัวเชื้อสายไทย-จีน เขาอาศัยและทำงานเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ที่กรุงเทพฯ ผลงานของเขานำเสนอการสังเกตในมนุษย์ วัตถุ และภูมิทัศน์ผ่านภาพเคลื่อนไหว
ชาวนานักวิจัย โดย สิริธารณ์ เลาวกุล
สารคดีเกี่ยวกับชาวนาจ.นครสวรรค์ที่ผันตัวมาทำงานวิจัยแบบชาวบ้าน ช่วยกันปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สามารถรับกับทุกสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
เกี่ยวกับสิริธารณ์ เลาวกุล
สิริธารณ์ เลาวกุล ปัจจุบันรับตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ (เทศมนตรี) และเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีผลงานมากมาย อาทิเช่น รายการ Backpack Journalist รายการ The North องศาเหนือ รายการ ที่นี่บ้านเรา ทาง Thai PBS เป็นต้น
งานแรก โดย ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์
‘ตึ๋ง’ เด็กฝึกงานห้องอัดเสียงแห่งหนึ่งกำลังเตรียมไฟล์เพลงให้กับหัวหน้าเพื่อนำเสนอลูกค้า ซึ่งเพลงที่ห้องอัดกำลังทำเป็นเพลงรณรงค์เกี่ยวกับโลกร้อน ทว่า ตึ๋งกลับพบว่ามีข้อมูลหลายอย่างในเนื้อเพลงที่ไม่ถูกต้อง เขาต้องพยายามบอกคนในทีมให้แก้ไขก่อนที่ลูกค้าจะใกล้เข้ามาฟังดราฟแรกในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า...
เกี่ยวกับณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์
ณพวัฒน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรม สาขาวิชาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต และศึกษาต่อปริญญาโท คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากนั้น ด้วยความสนใจทางด้านภาพยนตร์ เขาตัดสินใจศึกษาต่อด้านเสียงในภาพยนตร์ที่ Vancouver Film School ประเทศแคนาดา ปัจจุบันเขาทำงานเป็น Sound designer ที่ One Cool Sound Studio ซึ่งมีผลงานโดดเด่นอย่าง แสงกระสือ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ และ THE GRANDMASTER ของผู้กำกับหว่องกาไว เป็นต้น
ผูกปิ่นโต โดย นิชาภา นิศาบดี
สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของร้านอาหารมังสวิรัติเล็ก ๆ ร้านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่พยายามที่จะทำให้เกิดการค้าอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อโลก แม้ต้องประสบปัญหาในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019
เกี่ยวกับนิชาภา นิศาบดี
นิชาภา นิศาบดี (ริบบิ้น) ผู้กำกับและครีเอทีฟ นักกินผัก นักดนตรี โดยรวมคือ นักสื่อสารที่ต้องการสร้างสรรค์งานที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เธอเคยเป็นพิธีการรายการโทรทัศน์ ‘สารคดี The Moving Pictures’ และเป็นครีเอทีฟรายการ Daisuki Japan และ Sustainable Story ทางช่อง Bright TV
เรือเล็กอาจจะไม่ได้ออกจากฝั่ง โดย ณภัทร เวชชศาสตร์
ชาวประมงพื้นบ้านปะนาเระที่พยายามรักษาวิถีชีวิตการทำประมงในรูปแบบเดิม แม้พวกเขาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยตรง
เกี่ยวกับณภัทร เวชชศาสตร์
ณภัทร เวชชศาสตร์ เป็นช่างภาพ และนักผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ เขามีผลงานปรากฎในสื่อไทยและต่างประเทศ อย่างเช่น National Geographic Thailand, BBC Thai News และ สื่อโทรทัศน์ประเทศนอร์เวย์ ความสนใจของเขาคือ การทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การเมือง และปัญหาทางสังคม นอกจากนี้ ปัจจุบันณภัทร ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ ทางเทศกาลยังได้สนับสนุนโปรเจกต์หนังสั้นอีก 4 เรื่อง จากโครงการ CCCL Panorama: Mekong จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2564 โดยความร่วมมือของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผู้ได้รับทุนได้แก่
ไคร้เจ้าอยู่ไส โดย กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
สารคดีว่าด้วยเรื่องการสูญหายของต้นไคร้จํานวนมากบนโขดหินที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนโดยรอบให้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟริมโขงท่ีเคยมีวิวพันล้าน คนขับเรือนําเที่ยวท่ีเคยมีต้นไคร้เป็นจุดขาย ชาวบ้านท่ีอาศัยสายน้ําเป็น ร้านสะดวกซื้อ ชีวิตพวกเขาต้อง ‘ปรับตัว’ อย่างไรในวันท่ีไคร้อยู่ไสไม่มีใครรู้
เกี่ยวกับกิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
กิตติคุณ เสนีวงส์ ณ อยูธยา เกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาสนใจการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดีเพราะรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นวิธีการถ่ายทอดที่ทำให้คนคล้อยตามความรู้สึกและเนื้อสารที่เราต้องการถ่ายทอดได้อย่างบริสุทธิ์ และผู้รับสารเข้าถึงความจริงที่เรานำมาเรียบเรียงได้อย่างแท้จริง เมื่อเรียนจบการสื่อสารมวลชน เขาจึงยึดสารคดีเป็นอาชีพ และทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่และได้พูดคุยกับคนในหลายมิติ ซึ่งสำหรับเขานี่คือหนังสือเรียนชีวิตที่เขาได้บทเรียนกลับไปทุกครั้งที่เปิดอ่าน เหตุนี้เขาจึงตั้งทีมชื่อว่า 5W1H ซึ่งเป็นการรวมทีมกันของคนทำงานที่คุ้นเคยกันดีจากการทำงานโปรดักชั่นทั้งในและนอกประเทศ เพื่อที่เราจะได้ออกไปพบหนังสือเรียนนี้ด้วยกัน
จดหมายจากปลายน้ำ โดย ปฏิภาณ บุณฑริก
ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงของ ‘หนูนา’ NGO หญิงชาวมุสลิมพื้นถิ่นภาคใต้วัย 30 เธอได้พบกับ ‘นอแจ’ หญิงสาวกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าข่า หนูนาไม่อยากเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วไป เธอเลยขอให้นอแจพาไปเที่ยวที่หมู่บ้าน ทั้งคู่เลยได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน
เกี่ยวกับปฏิภาณ บุณฑริก
ปฏิภาณ บุณฑริก จบการศึกษาจาก ภาควิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบเขาได้เริ่มสร้างภาพยนตร์สั้นและสารคดีมาหลายเรื่องในฐานะผู้กำกับ และผู้เขียนบท โดยเขามีความสนใจในประเด็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน การตีตรา และธรรมชาติเป็นพิเศษ
MEANDERING โดย จักรพันธ์ ศรีวิชัย และอันธิกา ชมนันท์
โลกอนาคต ค.ศ. 2090 นักเขียนหนุ่มค้นพบไข่ประหลาดที่ครอบครัวเก็บรักษาไว้ ภายหลังมันฟักตัวออกมาเป็นหญิงสาวผู้ขอให้เขาพาเธอกลับไปยังแม่น้ำโขงบ้านของเธอ ชายหนุ่มต้องออกเดินทางไปกับหญิงสาวเพื่อตามหาแม่น้ำที่หายสาบสูญ
เกี่ยวกับจักรพันธ์ ศรีวิชัย
จักรพันธ์ ศรีวิชัย จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาสหศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักทำภาพยนตร์สั้น ผู้ผลิตวิดิโออาร์ต และนักศิลปะการแสดงสด ผลงานของเขามีโอกาสได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ HORROR RADIO ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ประเทศไทย ปี 2015, BEING OF NEGLECTED ในเทศกาล Busan International Short Film Festival ประเทศเกาหลีใต้ ปี 2019, ผีม้าบ้อง (PHIMABONG) ในเทศกาล Klappe Auf Short Film Festival ประเทศเยอรมนี 2019, ระบาดพันธนาการ (OBLIGATION DISORDER) ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ประเทศไทย ปี 2019, และ REINCARNATED LIGHT ในเทศกาล Locarno Film Festival ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ปี 2021อีกทั้งเขายังเคยเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปงานภาพยนตร์กับ Open Door Consultancy 2020 ของเทศกาล Locarno Film Festival ประเทศสวิสเซอร์แลนด์, Berlinale Talents ของเทศกาล Berlin International Film Festival 2021 ประเทศเยอรมนี, และ Open Door: Immersion Program ของเทศกาล Locarno Film Festival 2021 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เกี่ยวกับอันธิกา ชมนันท์
อันธิกา ชมนันท์ จบปริญญาตรีจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมบำบัด, นักแสดงละครเวที, และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์สั้นอิสระ เธอมีส่วนร่วมในด้านการจัดการและการโปรดิวซ์ในภาพยนตร์สั้นของจักรพันธ์ ศรีวิชัยที่ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์มากมาย อาทิ BEING OF NEGLECTED, ผีม้าบ้อง (PHIMABONG), STENCIL DAUGHTER, CAMPER และ REINCARNATED LIGHT
ข้าวโพดกับฉัน โดย เสฎฐวุฒิ อินบุญ และสรัลชนา ขำเดช
เรื่องราวของ “ข้าวโพด” เด็กชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงกับพ่อ เมื่อพ่อเริ่มรับข้าวโพดเข้ามาปลูกในสวนของตัวเอง ตั้งแต่วันนั้นข้าวโพดก็เริ่มเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป
เกี่ยวกับเสฎฐวุฒิ อินบุญ
เสฎฐวุฒิ อินบุญ จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ โทละครอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ในจุดเล็ก ๆ ของสังคมโดยทำให้งานนั้นสามารถเข้าถึงในวงกว้างและชวนให้ตั้งคำถามต่อปัญหาเหล่านั้น
เกี่ยวกับสรัลชนา ขำเดช
สรัลชนา ขำเดช จบการศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม สาขาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอได้มีโอกาสศึกษาทั้งวัฒนธรรมไทยและต่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ชุมชนและได้เห็นวัฒนธรรมและธรรมชาติของประเทศไทย เธอพบว่าในประเทศไทย คนส่วนมากยังไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติเท่าที่ควรจะเป็น เพราะประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นการผลิตและขับเคลื่อนทางอุตสาหกรรมไปข้างหน้ามากกว่าจะมองกลับมา
เกี่ยวกับเทศกาล CCCL
เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2562 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนและชุมชนในประเทศไทยได้ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัวและรับมือต่อวิกฤตินี้ ทางเทศกาลฯ จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชิงทุนสนับสนุนผลิตภาพยนตร์สั้น กิจกรรมพัฒนางานศิลปะของยุวทูต CCCL และกิจกรรมเสวนาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาพยนตร์ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจให้สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการรับมือต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Comentarios